สถาบันวิปัสสนาธุระ มจร

แผนที่ มหาจุฬาฯ วังน้อย





แผนที่การเดินทางไปมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันตักบาตรเทโวโรหนะ

ออกพรรษานี้ขอเชิญมาร่วมกันตักบาตรเทโวกันนะครับ
วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ธรรมชาติ....ให้ชีวิตมนุษย์

ธรรมชาติ...ให้ชีวิตมนุษย์


ชีวิตทุกชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
เมื่อลืมตาขึ้นมายามเช้า สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืม คือ อย่าลืมมองดูลมหายใจเข้าลมหายใจออก เราเคยสั่งเกตุ เคยดูแลบ้างหรือเปล่าว่า เราควรดูแลอะไรให้เป็นพิเศษ ควรเอาใจใส่ตรวจตราดูแลเอาใจใส่ เพราะการดูลมหายใจอยู่เสมอนั้น เป็นการทำความสะอาดภายใน สิ่งที่ทำให้ภายในเราไม่สะอาดคือ ความคิด ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา ความคิดของเราเกิดขึ้นจิตใจ ดังนั้นการทำความสะอาดจิตที่ดีที่สุด ก็คือการหยุดคิดนั้นเอง
ตัวเราที่ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ได้ สรุปรวมแล้วก็มีเพียง กายกับจิต หรือ ร่างกายกับจิตใจ ถ้าจิตของเราอุปมาเหมือนร่างกาย ร่างกายเราทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าไม่ได้ทำความแม้เพียงวันเดียว ก็จะเกิดอาการคันตามตัวต่างๆ นาๆ ส่วนจิตของเราอยู่ภายใน สิ่งที่ทำให้จิตใจของไม่สะอาด ก็คือความคิด เพราะความคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา หากปล่อยให้คิดมากเกินไป ก็ทำให้ฟุ้งซ่าน อาการของจิตใจที่ฟุ้งซ่านนั่น เกิดจากการขาดการพักผ่อนของจิต ดังนั่นการพักผ่อนที่ดีที่สุดของจิตก็คือการหยุดคิดนั่นเอง
คนส่วนใหญ่ ได้รับการพร่ำสอนมาแต่เด็กๆ ให้ดูแลทำความสะอาดแต่ภายนอก คือร่างกาย เมื่อลืมตาขึ้นมายามเช้า ก็ได้ยินเสียงบอกว่าให้ล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำแต่งตัวให้สะอาด สอนให้ทำความสะอาดแต่ภายนอก สิ่งที่ขาดไป หรือสิ่งที่ควรถูกพร่ำสอนพร้อมกันมาแต่เด็กๆ คือต้องให้รู้วิธีทำความสะอาดภายในด้วย คือทำความสะอาดจิตใจด้วย ดังข้ออุปมาที่จะนำมากล่าวต่อไป เพื่อให้มองความไม่งามของร่างกายที่คนเราต่างพากันยึดติดในความสวยงาม และยึดมั่นถือมั่นกัน

มองร่างกายของมนุษย์ผ่านข้ออุปมา


ร่างกายอุปมาเหมือนบ่อน้ำครำ – ฝีใหญ่
นัยสำคัญแห่งอุปมานี้ เพื่อให้มองเห็นความจริง ที่เป็นแง่มุมหนึ่งของชีวิตในส่วนที่เป็นร่างกายให้เห็นเป็นอสุภะ การนำอุปมาคือบ่อน้ำครำ - ฝีใหญ่มาใช้อธิบายย่อมแสดงให้เห็นว่าร่างกายเป็นของน่าเกลียด เต็มไปด้วยของสกปรก เปื่อยเน่า เพราะบ่อน้ำครำ เป็น แหล่งสะสมเชื้อโรคชนิดต่างๆ อันเกิดจากที่สกปรกหมักหมมทับถมรวมกันจนเกิดการเปื่อยเน่า ส่งกลิ่นเหม็นน่ารังเกลียด น่าขยะแขยง เป็นบ้านของเหล่าเชื้อโรคอย่างดีนั่นเอง หากเชื้อโรคเหล่านั้นมาสัมผัสเข้ากับคน ก็จะส่งผลให้คนเจ็บป่วยไปต่างๆ นาๆ ส่วนฝีใหญ่ เราก็จะเห็นได้ว่า เกิดจากเชื้อโรค ทำให้ร่างกายอักเสบพุพอง เป็นหนอง เกิดการติดเชื้อ ทำให้ปวดร้าวระบมทุกข์ทรมาน เมื่อฝีนั้นแตกออกก็จะมีรอยแผลที่น่าเกลียดทั้งแก่ตนและผู้อื่น
ซึ่งเปรียบเทียบได้กับชีวิตในส่วนของร่างกายเป็นของน่าเกลียด สกปรก เปื่อยเน่า เป็นแหล่งเชื้อโรค เป็นรังของโรค มีเชื้อโรคชนิดต่างๆ สะสมอยู่ในร่างกายคนมากมาย ไม่ต่างจากบ่อน้ำครำเลย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส พยาธิชนิดต่างๆฯลฯ ล้วนอาศัยอยู่ในร่างกายของคนทั้งสิ้น เพียงแต่คนเรามองไม่เห็นเท่านั้นเอง รวมไปถึงน้ำเลือด น้ำหนองก็มีอยู่ในร่างกายเช่นกัน
ดังนั้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ผู้มีปัญญาจะหลงไหลในร่างกายที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค ที่เป็นน้ำเลือด น้ำหนองนั้น ควรมองเห็นโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม ไม่ควรหลงงมงายอยู่กับความลวงของสิ่งปรากฏภายนอกอันเป็นมายาแห่งโลก ความยึดมั่นในตัวตนอย่างมืดบอดซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งความชั่วช้าเลวทรามนั้น แต่ควรพิจารณาเห็นร่างกายเป็นอสุภะด้วยปัญญาอันชอบ เพื่อจะเป็นทางตรงไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งดวงจิตที่เคยหมักหมมมานาน

ร่างกายอุปมาเหมือนอุจจาระในส้วม
นัยสำคัญแห่งอุปมานี้ ก็คือ ชี้ให้เห็นความเป็นจริง ที่เป็นแง่มุมหนึ่งของชีวิตในส่วนที่เป็นร่างกายให้เห็นเป็นของไม่งาม น่าเกลียด การนำอุปมาคือ อุจจาระในส้วม มาใช้อธิบายให้เห็นความจริง ย่อมแสดงให้เห็นว่าร่างกายเป็นของน่าเกลียด เต็มไปด้วยของสกปรก เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล และเปื่อยเน่า ไม่ควรหลงยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าอุจจาระ คือสิ่งปฏิกูลที่เป็นของเสียจากอาหารที่เรากินเข้าไปทุกวันๆ แล้วไปสะสมอยู่ในร่างกายของเรา ต้องมีการระบายทิ้งออกไป ไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นพิษ หรือเป็นโทษแก่ร่างกาย ในอุจจาระ ก็ประกอบไปด้วยกากอาหาร มีกลิ่นเหม็น ไม่เป็นที่ปรารถนาของใครๆ หากว่าอุจจาระนั้น เรี่ยราดออกมาเพียงเล็กน้อยก็สร้างความน่าเกลียด ความขยะแขยงอย่างยิ่ง แม้ผู้เป็นเจ้าของเองก็เอือมระอาอยู่นั่นเอง และถ้าเป็นอุจจาระจำนวนมากที่รวมกันอยู่ในส้วมก็ยิ่งน่าเกลียดน่าขยะแขยงมากขึ้นอีก
ซึ่งเปรียบเทียบได้กับร่างกายของคนเราเป็นของสกปรก เต็มไปด้วยอุจจาระเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอุจจาระที่เป็นกากอาหารจากที่เรากินเข้าไปก็สะสมอยู่ในร่างกาย ที่ผิวหนังก็มีอุจจาระที่เรียกว่าขี้ไคล บนหัวก็มีอุจจาระ ที่เรียกว่าขี้หัว ในตาก็มีอุจจาระ ที่เรียกว่าขี้ตา ในหูก็มีอุจจาระ ที่เรียกว่าขี้หู ในจมูกก็มีอุจจาระ ที่เรียกว่าขี้จมูก ในปากก็มีอุจจาระ ที่เรียกว่าขี้ฟันเป็นต้น
ดังนั้นจึงไม่ควรห่วงใย และหลงมัวเมาในร่างกาย ควรละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกต่างๆ นี้ไปเสีย เมื่อคนปลดเปลื้องจากร่างกายอันน่ารังเกียจ ที่เต็มไปด้วยอุจจาระแล้วก็จะทำให้เราได้มองเห็นความเป็นจริง จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุข เพราะเราไม่มีความห่วงใย ในร่างกายที่เปื่อยเน่าเป็นที่รวมอุจจาระนี้

ร่างกายอุปมาเหมือนซากศพงู - สุนัข - มนุษย์
นัยสำคัญแห่งอุปมานี้ ก็คือ การแสดงออกของความเป็นจริง ที่เป็นแง่มุมหนึ่งของชีวิตในส่วนที่เป็นร่างกายให้เห็นเป็นอสุภะ การนำอุปมาคือ ซากศพงู-สุนัข-มนุษย์ มาใช้อธิบายนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าร่างกายเป็นของน่าเกลียด เต็มไปด้วยของสกปรก เปื่อยเน่า ไม่ควรหลงยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าสัตว์และคนเราพอตายแล้วเป็นซากศพ ก็ยิ่งโสโครกใหญ่ ร่างกายที่เคยผ่องใส ก็กลายเป็นซากศพที่ขึ้นอืดพอง น้ำเหลืองไหลมีกลิ่นเหม็นตลบไปทั่วบริเวณ คนที่เคยรักกันปานจะกลืน พอสิ้นลมปราณลงไปในทันทีก็พลันเกลียดกัน แม้แต่จะเอามือเข้าไปแตะต้องก็ไม่ต้องการ บางรายแม้แต่จะมองก็ไม่อยากมอง มีความรังเกียจซากศพ ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่ออยู่รักและหวงแหน จะไปสังคมสมาคมคบหา สมาคมกับใครอื่นไม่ได้ ทราบเข้าเมื่อไรเป็นมีเรื่อง แต่พอตายจากกันวันเดียวก็มองเห็นคนที่แสนรักกลายเป็นศัตรูกัน กลัววิญญาณคนตายจะมาหลอกมาหลอน เกรงคนที่แสนรักจะมาทำอันตราย ความเลวร้ายของสังขารร่างกายเป็นอย่างนี้
ซึ่งเปรียบเทียบได้ว่า ร่างกายของคนก็เหมือนซากศพดังกล่าว เพราะความจริงแล้วร่างกายของคนเป็นของน่าเกลียดโสโครก มีกลิ่นเหม็นคุ้ง มีสภาพขึ้นอืดพอง มีน้ำเลือดน้ำหนองเต็มร่างกาย หาอะไรที่จะพอพิสูจน์ได้ว่า น่ารักน่าชมไม่มีเลย สภาพของร่างกายที่พอจะมองเห็นว่าสวยสดงดงาม พอที่จะอวดได้ก็มีนิดเดียว คือ หนังกำพร้าที่ปกปิดอวัยวะภายในทำให้มองไม่เห็นสิ่งโสโครก คือ น้ำเลือด น้ำหนอง ดี เสลด ไขมัน อุจจาระ ปัสสาวะ ที่ปรากฏอยู่ภายใน แต่ทว่าหนังกำพร้านั้นใช่ว่าจะสวยสดงดงามจริงเสมอไปก็หาไม่ ถ้าไม่คอยขัดถูแล้วไม่นานเท่าใด คือไม่เกินสองวันที่ไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย หนังที่สดใสก็กลายเป็นสิ่งโสโครกเหม็นสาบเหม็นสาง ตัวเองก็รังเกียจตัวเอง เมื่อมีชีวิตอยู่ก็เอาดีไม่ได้
ดังนั้นเมื่อพิจารณากำหนดทราบว่าร่างกายของคนเรา ก็เหมือนซากศพทั้งหลายที่น่าเกลียด ก็ควรน้อมนึกถึงสิ่งที่ตนรัก คือคนที่รัก ที่ปรารถนา ที่เราเห็นว่าเขาสวยเขางาม เอาความจริงจากซากอสุภะเข้าไปเปรียบเทียบดู พิจารณาว่า คนที่เรารักแสนรัก ที่เห็นว่าเขาสวยสดงดงามนั้น เขากับซากศพนี้มีอะไรแตกต่างกันบ้าง เดิมซากศพนี้ก็มีชีวิตเหมือนเขา พูดได้เดินได้ ทำงานได้ แสดงความรักได้ เอาอกเอาใจได้ แต่งตัวให้สวยสดงดงามได้ ทำอะไรๆ ได้ทุกอย่าง ตามที่คนรักของเราทำ แต่บัดนี้เขาเป็นอย่างนี้ คนรักของเราก็เป็นอย่างเขา เราจะมานั่งหลอกตนเองว่า เขาสวย เขางาม น่ารัก น่าปรารถนาอยู่เพื่อเหตุใด แม้แต่ตัวเราเองสิ่งที่เรามัวเมากาย เมาชีวิต หลงใหลว่า ร่างกายเราสวยสดงามวิไล ไม่ว่าอะไรน่ารักน่าชมไปหมด ผิวที่เต็มไปด้วยเหงื่อไคล เราก็เอาน้ำมาล้าง เอาสบู่มาฟอก นำแป้งมาทา เอาน้ำหอมมาพรม แล้วก็เอาผ้าที่เต็มไปด้วยสีมาหุ้มห่อ เอาวัตถุมีสีต่างๆ มาห้อยมาคล้องมองดูคล้ายบ้าหอบฟางแล้วก็ชมตัวเองว่าสวยสดงดงาม ลืมคิดถึงสภาพความเป็นจริง ที่เราเองก็หอบเอาความโสโครกเข้าไว้พอแรง เราเองเรารู้ว่าในกายเราสะอาดหรือสกปรก ปากเราที่ชมว่าปากสวย ในปากเต็มไปด้วยเสลดน้ำลาย น้ำลายของเราเองเมื่ออยู่ในปากอมได้ กลืนได้ แต่พอบ้วนออกมาแล้วกลับรังเกียจไม่กล้าแม้แต่จะเอามือแตะนี่เป็นสิ่งสกปรกที่มีอยู่ในตัวเรา ผู้ฉลาดจึงควรรีบเร่งทำความดี เหมือนดังบุคคลมีศรีษะกำลังถูกไฟไหม้ ต้องรีบเร่งดับไฟ ควรหมั่นระลึกถึงซากศพอันน่าเกลียดนี้ทุกลมหายใจเข้าออก

ที่ยกข้ออุปมามากล่าวในที่นี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นความจริงที่ว่า ร่างกายของเรากับจิตใจ เราควรเอาใจใส่ดูอะไรมากกว่ากัน



โดย วรญาโณภิกขุ
๒๔ / ๐๙ / ๕๒

การกำหนดนิวรณ์ ๕

การกำหนดรู้นิวรณ์นิวรณ์ หมายถึง ธรรมอันกั้นจิตของบุคคลไว้ไม่ให้บรรลุความดีงาม นิวรณ์แต่ละประเภทที่เกิดขึ้นผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าใจและกำหนดให้ถูกต้อง ถ้าไม่กำหนดรู้หรือแก้ไขให้ถูกต้องแล้วสิ่งนี้ก็จะสะสมอยู่ในใจจนยากแก่การแก้ไข ทำให้เราไม่ประสบความก้าวหน้าใน การปฏิบัติหรือการทำความดีในด้านอื่น ๆ อีกต่อไป วิธีกำหนดมี ดังนี้วิธีกำหนดนิวรณ์ ๕ คือ
1. กามฉันท์นิวรณ์
2. เมื่อกามฉันท์นิวรณ์เกิดขึ้นจะทำให้ยินดีหรือพอใจกับกามคุณอารมณ์มีรูป เสียง กลิ่น รส การถูกต้องสัมผัส ขณะดีใจ กำหนดว่า ดีใจหนอ ๆ ๆ พอใจขึ้นมากำหนดว่า พอใจหนอ ๆ ๆ ขณะชอบใจ กำหนดว่า ชอบใจหนอ ๆ ๆ พยาบาทนิวรณ์
3. เมื่อพยาบาทนิวรณ์เกิดขึ้นจะทำให้รู้สึกไม่ยินดีไม่พอใจ ขณะเสียใจกำหนดว่า เสียใจหนอ ๆ ๆ ไม่พอใจ กำหนดว่า ไม่พอใจหนอ ๆ ๆ เกลียดขึ้นมา กำหนดว่า เกลียดหนอ ๆ ๆ โกรธขึ้นมากำหนดว่า โกรธหนอ ๆ ๆ พยาบาทขึ้นมา กำหนดว่า พยาบาทหนอ ๆ ๆ ถีนมิทธนิวรณ์
4. ความที่จิต หรือเจตสิกท้อถอยจากอารมณ์ กรรมฐานที่ผู้ปฏิบัติกำลังกำหนดอยู่ จนทำให้เกิดอาการง่วงเหงา ท้อถอย หดหู่ เกียจคร้าน ซึมเศร้า เป็นต้น ขณะง่วงกำหนดว่า ง่วงหนอ ๆ ๆ ท้อถอยหนอ ๆ ๆ หดหู่หนอ ๆ ๆ เกียจคร้านหนอ ๆ ๆ ซึมหนอ ๆ ๆ เศร้าหนอ ๆ ๆ กำหนอให้หนักแน่น ถี่เร็ว ไม่หยุดยั้งต่อเนื่อง อุปมาเหมือนการหวดไม้เรียว หรือแล้ลงไปยังคนหรือสัตว์อย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งคนหรือสัตว์นั้นทนอยู่ไม่ได้ต้องดิ้นรนจากไป เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดความง่วงในลักษณะเช่นนี้แล้ว จะทำให้จิตและเจตสิกตื่นตัว จนสามารถขับไล่ความท้อถอย หดหู่ ซึมเศร้าให้เบาบางและหายไปได้ ในบางครั้งเราอาจแก้ไขคามง่วงด้วยการเดินจงกรมให้เร็วขึ้นหรือมากขึ้น โดยช่วงที่ง่วงซึม อาจจะเดินจงกรมให้มากกว่านั่งประมาณ ๑๕-๓๐ นาที ก็จะทำให้ดีขึ้นบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะหายไปเลยทีเดียว ผู้ปฏิบัติจำต้องเพียรพยายามเฝ้าดูด้วยสติอย่างต่อเนื่อง อย่าเปิดโอกาสหรือสร้างเหตุปัจจัยอื่น ๆ จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดความง่วง เช่น ทานอาหารที่ย่อยยาก หรือทานมากเกินไป เป็นต้น อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์
5. ได้แก่ ความฟุ้งซ่านและรำคาญผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะขลาดกลัวต่อความฟุ้งซ่านค่อนข้างมาก ความฟุ้งซ่านกับความคิดมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ความคิดเมื่อเกิดขึ้นจะมีลักษณะที่เป็นคำ ประโยคหรือเรื่องราวสั้น ๆ ส่วนความฟุ้งซ่านนั้นเป็นเรื่องราวที่ไม่ปะติดปะต่อ โบราณท่านอุปมาอุปมัยเหมือนกับการต้มน้ำร้อน ความคิดเหมือนกับการต้มน้ำที่กำลังเริ่มจะเดือด จะมีฟองอากาศผุดขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนความฟุ้งซ่าน เมื่อแยกแยะได้ถูกต้องแล้วก็พุ่งเป้าสู่การกำหนดรู้อาการนั้น ๆ ทันที ขณะฟุ้งกำหนดว่า ฟุ้งหนอ ๆ ๆ หงุดหงิดหนอ ๆ ๆ รำคาญหนอ ๆ ๆ สับสนหนอ ๆ ๆ วิธีกำหนดควรจะกำหนดให้ถี่เร็วฉับไวต่อเนื่อง ไม่เปิดโอกาส ไม่ให้เกิดช่องว่า หรือกำหนดในลักษณะที่เน้นย้ำทิ้งจังหวะบ้าง เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่มีการผ่อนคลาย จะทำให้ไม่เครียดมาก วิจิกิจฉานิวรณ์ได้แก่ ความลังเลสงสัย หรือวิตกกังวลขณะสงสัย กำหนดว่าสงสัยหนอ ๆ ๆ วิตกหนอ ๆ ๆ กังวลหนอ ๆ ๆ พยายามกำหนดให้ตรงกับความรู้สึกในขณะนั้นให้มาก จะทำให้การกำหนดนั้นตรงกับสภาวะที่เป็นอยู่ขณะนั้น จิตจะแนบแน่นและสติจะระลึกรู้อย่างเท่าทันอารมณ์ การกำหนดทุกครั้งอย่าคาดหวังอะไร พยายามให้จิตเกาะติดอยู่กับปัจจุบันขณะให้มากเท่าที่จะมากได้ การกำหนดด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ นับเนื่องโดยอนุโลมตามการเจริญ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งกล่าวโดยสรุปในแง่ของการปฏิบัติแล้วก็ได้แก่การกำหนดรู้ รูปนาม ตามความเป็นจริงนั่นเอง (กายฯ=รูป. เวทนาฯ,จิตฯ=นาม. ธรรมฯ=เป็นได้ทั้งรูปและนาม)อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ประโยชน์ของการกำหนดรูป – นาม (ปรมัตถอารมณ์)
1. จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ (ขณิกสมาธิ)
2. เกิดสติสัมปชัญญะละอัตตาตัวตน
3. สั่งสมเหตุปัจจัย เพื่อเว้นไกลจากกิเลส
4. รู้ถ้วนทั่วอย่างวิเศษ ในปัจจุบันขณะ
5. ละความเกียจคร้าน สะสมญาณหยั่งรู้
6. กอบกู้อิสระภาพกำราบกิเลส

ประโยชน์ของการนั่ง กำหนดอิริยาบถ
1. จิตตั้งมั่น และเป็นสมาธิได้ง่าย
2. สภาวธรรมปรากฎค่อนข้างชัดเจน
3. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดเจน
4. เป็นอิริยาบถที่เอื้อต่อการบรรลุ มรรคผล นิพพาน ได้มากกว่าอิริยาบถอื่น ๆ
5. เป็นอิริยาบถที่รวมความพร้อม เพื่อการบรรลุธรรมในขั้นต่าง ๆ กระทั่งสูงสุด

ประโยชน์ของการยืนกำหนดอิริยาบท
1. ทำให้การกำหนดเกิดความต่อเนื่องกัน
2. จิตเป็นสมาธิได้ค่อนข้างง่าย
3. ทุกขเวทนามีน้อย ใช้พื้นที่น้อยในการกำหนด
4. ทำลายบัญญัติของรูปยืน เป็นสภาพรู้อาการ
5. ทำให้เข้าใจสภาพของเหตุปัจจัย อันอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป


ประโยชน์ของการเดินจงกรม ๕ ประการ
1. อดทนต่อการเดินทางไกล
2. อดทนต่อการกระทำความเพียร
3. ช่วยย่อยอาหาร
4. ช่วยขับลมออกจากตน
5. สมาธิที่ได้แล้วตั้งอยู่ได้นาน

ประโยชน์ของการกำหนดอิริยาบถย่อย
1. ปิดช่องว่างการกำหนดในอิริยาบถอื่น ๆ
2. ทำให้การกำหนดมีความต่อเนื่องไม่ขาดสาย
3. วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เกื้อกูลกันค่อนข้างมาก
4. ส่งเสริมให้อินทรีย์ ๕ เท่ากัน (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา)
5. มีความรอบคอบ ไม่หลงลืม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในด้านอื่น ๆ ด้วย

ประโยชน์ของการนอนกำหนดอิริยาบถ
1. ช่วยให้หลับง่าย เพราะไม่กังวล
2. จิตเป็นสมาธิได้ง่าย
3. เป็นการพักผ่อน และเป็นการเชื่อมโยงอิริยาบถอื่นให้สม่ำเสมอข้อที่ควรระวัง ถีนะมิทธะ ความง่วงเหงา หาวนอน เชื่องซึม เกิดขึ้นได้ง่ายo ไม่ควรนอนมากเกินไปสำหรับผู้มุ่งปฏิบัติจริง ๆ อย่างมากไม่ควรเกิน ๖ ชั่วโมงo ความเกียจคร้านเกิดขึ้นได้ง่าย อย่าเห็นแก่นอนเกินไปo ผู้ปฏิบัติที่มุ่งคามสุขสงบในชีวิต ต้องการหลับพักผ่อนก็ไม่ต้องตั้งใจกำหนดมาก

อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔
1. ทำให้สุขภาพทางร่างกาย และจิตใจดีขึ้น
2. ทำให้จิตใจเบิกบาน เอิบอิ่ม แช่มชื่น
3. ความวิตกกังวล และความเครียดลดลงอย่างมาก
4. เป็นผู้มีสติรู้เท่าทัน มีความผิดพลาดน้อย
5. มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ดีขึ้น
6. ไม่ตกใจกลัง เพราะเจริญสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ
7. มีความกล้าหาญ ในการกระทำคุณงานความดีอย่างสม่ำเสมอไม่ท้อถอยเบื่อหน่าย
8. ความยึดมั่นถือมั่นลดลง เพราะเข้าใจในสภาพที่แท้จริงของชีวิต (ขันธ์ ๕)
9. สามารถทำลายความโลภ (อภิชฌา) ความโกรธ (โทมนัส) ให้ลดลงหรือหมดไปได้
10. ชื่อว่าเป็นการเตรียมความพร้อมและได้สะสมเหตุปัจจัยเพื่อการู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ อันจะนำไปสู่การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลส (ความยึดมั่นถือมั่นด้วยโมหะ) และกองทุกข์ทั้งมวลได้ในปัจจุบันชาตินี้ หรือถ้าผู้ปฏิบัติกระทำอย่างต่อเนื่องจะไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างช้าควรจะได้บรรลุ อริยมรรค อริยผล อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน ดังพระพุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ในท้ายสติปัฎฐานสูตรคัมภีร์มัชณิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พัฒนาสติ01 หลวงพ่อวิโมกข์





เจริญพร อาตมาขอให้การบ้านแก่นักเรียนทุกคน ได้ไปทบทวนทำการบ้าน ดังที่ได้แนะนำและให้อุบายในการเจริญสมาธิภาวนาด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอันเป็นกำลังแก่การพัฒนาสติ ดังต่อไปนี้...

๑.เริ่มต้นด้วยการนั่งในท่านั่งที่ผ่อนคลาย สบายๆ ทำความรู้สึก เหมือนว่าเรากำลังนั่งเล่นหรือนั่งพักผ่อนรับลมโชยเย็นๆ อยู่ชายทะเล พร้อมกับนั่งมองดูวิวทิวทัศน์ท้องทะเล ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ตื่นรู้ สดชื่น เบิกบาน (เพื่อปลุกตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ให้ตื่นขึ้น) ต่อไปให้ย้อนความรู้สึกเข้าไปสำรวจร่างกาย รู้สึกถึงร่างกายทุกส่วนให้มีการผ่อนคลายอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีส่วนใดเกร็ง ไล่ไปตั้งแต่ศีรษะ ใบหน้า ถ้าตึงเกร็งก็ให้ผ่อนคลาย ไหล่ แขน ลำตัว ถ้าตึงเกร็ง ก็ให้ผ่อนคลาย ก้น ขา จนจรดปลายเท้าให้รู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ ส่วนใดตึงเกร็ง ก็ให้ผ่อนคลาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน และรู้สึกถึงร่างกายทั้งหมดเป็นองค์รวมแบบคร่าวๆ รู้สึกถึงรูปกายที่นั่งอยู่ หรืออาจรู้สึกจนเหมือนเห็นรูปกายที่กำลังนั่งอยู่ และผ่อนคลายไปเรื่อยๆ จะรู้สึกถึงความสงบระงับของร่างกาย เมื่อกายระงับ จิตก็จะระงับ สงบเอง เป็นไปอย่างธรรมชาติ

๒. เมื่อผ่อนคลายร่างกายไปสักระยะ จะรู้สึกถึงลมหายใจเบาๆ ระเรื่อ ผ่านเข้า ผ่านออก สบายๆ และรู้สึกได้โดยไม่ต้องกำหนด

๓.ให้รู้สึกถึงลมหายใจอย่างแผ่วเบา ละเอียด ประณีต ผ่านเข้า ผ่านออก เบา ละเอียด นุ่มนวล ประณีต ...เบา ละเอียด นุ่มนวล และประณีตมากขึ้น มากขึ้น มาก...และ รู้สึกลมหายใจที่เบา ละเอียด ประณีตนี้ได้โดยไม่ต้องเพ่งหรือกำหนดแต่อย่างใด คือรู้สึกเองแบบสบายๆ อย่างเป็นธรรมชาติ

๔. เมื่อรู้สึกถึงลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก อย่างแผ่วเบานี้ได้โดยไม่ต้องกำหนด ก็ให้หลับตาเบาๆ เพียงแค่ผนังตาปิดเบาๆ แล้วประคองให้ตัว รู้สึกหรือสำนึกรู้ลอยอยู่ช่วงบนประมาณเหนือไหล่ขึ้นไป ระวังอย่าให้ตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้นี้ไหลลงต่ำตกสู่ภวังค์ คือ เสมือนหนึ่งตาภายนอกหลับ แต่ความรู้สึกภายในยังตื่นอยู่เหมือนยังลืมตาอยู่ (หลับตานอก แต่ความรู้สึกภายในยังคงตื่นรู้ สดชื่นเบิกบาน เสมือนหนึ่งความรู้สึกตื่นรู้ สดชื่น เบิกบาน ขณะรับลมโชยทะเลเย็นสบายและมองดูวิวทิวทัศน์ของทะเลอย่างเบิกบาน สดชื่น เบาสบาย)

๕.ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วสรรพางค์กายด้วยอาการตื่นรู้ ด้วยสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกที่เรากำลังประคองอยู่ช่วงบนเหนือไหล่ขึ้นไป อาจจะอยู่บริเวณใบหน้า หรือบริเวณศีรษะ หรือรอบๆ ศีรษะ และประคองความรู้สึกนี้ไปเรื่อยๆ คือมีสติเฉพาะหน้า ด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจริงๆ โดยให้สมาธิ สติ และสัมปชัญญะขนานกันไป อย่างต่อเนื่อง ระวังไม่ให้เผลอสติ เพราะถ้าเผลอสตินิดเดียว สำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้จะไหลลงต่ำตกสู่ภวังค์ได้ในที่สุด

๖. ให้ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม พร้อมกับรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกแผ่วเบา ทุกระยะ จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วถึงที่เป็นไปในภายใน คือ รู้สึกถึงอาการของใจ อาจจะเป็นปีติ อิ่มเอิบ หรือรู้สึกถึงไออุ่น ไอเย็นที่แผ่ซ่านอยู่ภายใน หรือรู้สึกถึงแรงดึงอันเนื่องจากความผูกพัน ด้วยตัณหาอุปาทาน และอาจจะรู้สึกถึงอาการคลายออกของแรงดึงดังกล่าว และค่อยๆ รู้สึกถึงความจางคลาย ความคลายออก โล่งโปร่งเบาสบาย ด้วยการละวางอาการทางใจไปทีละน้อยๆ

๗.เมื่อรู้สึกถึงอาการทางใจที่เป็นไปในภายในอย่างทั่วถึงและชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น จะเกิดการปล่อยวาง และละวางความรู้สึกของร่างกายหรือความรู้สึกทั่วสรรพางค์กายอันเป็นไปภายนอกเองโดยอัตโนมัติ เหลือแต่ความรู้สึกถึงอาการทางใจที่เป็นไปในภายในล้วนๆ ขณะเดียวกัน ให้รู้สึกถึงอาการของลมหายใจที่ละเอียดแผ่วเบาๆ ไปตามลำดับพร้อมกันไปด้วย อันจะช่วยให้อาการทางใจค่อยๆ คลายออก จางคลายไป จนเกิดสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกล้วนๆ ลอยอยู่ช่วงบนเหนือไหล่ขึ้นไปหรืออยู่เหนือกายนี้

๘.เมื่อรู้สึกถึงตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่ค่อยๆ รวมตัวกันและลอยอยู่เหนือไหล่ อยู่เฉพาะหน้า ชัดขึ้น ชัดขึ้นๆ ให้ค่อยๆ ปล่อยวางอาการทางใจที่เป็นความรู้สึกอยู่ภายใน ค่อยๆ ปล่อยวางไปทีละน้อยๆ ไปตามลำดับ จะรู้สึกถึงสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้ชัดขึ้นๆ เหมือนกับลอยอยู่โดยไม่มีกาย ไม่มีศีรษะ ไม่มีใบหน้า เสมือนหนึ่งใจผู้รู้ล้วนๆ ลอยอยู่เหนือร่างกาย เหนือขันธ์ ๕ และให้รู้สึกถึงลมหายใจที่แผ่วเบาละเอียดมากขึ้น มากขึ้น ๆ โดยรู้สึกอยู่ในสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้ จนสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้จะค่อยๆ ชัดขึ้น ชัดขึ้น ๆ ผ่องใสขึ้น แจ่มใสขึ้น และพัฒนาไปเป็นใจผู้รู้ที่เป็นใจผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นอิสระ ลอยอยู่เหนือร่างกายหรือเหนือขันธ์ ๕ จนเสมือนหนึ่งไม่มีกาย (กายหาย เหลือแต่จิตล้วนๆ ที่ค่อยๆ ผ่องใส แจ่มใส และค่อยๆ ฉายแสงจิตออกมาตามลำดับ)

๙.มีสติระลึกรู้อยู่ในสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับค่อยๆ ปล่อยวางร่างกาย ละวางตัวตน เช่น ให้รู้สึกในใจว่าตัวเราไม่ใช่ของเรา และ ไม่เสียดายชีวิต แม้ว่าจะตกอยู่ท่ามกลางสิงสาราสัตว์ที่ดุร้าย คอยจ้องเอาชีวิตอยู่เบื้องหน้า ตายเป็นตาย ทิ้งกายเนื้อ เหลือแต่จิตหรือใจผู้รู้ล้วนๆ จนจิตเป็นอิสระ เหลือแต่จิตหรือใจผู้รู้ล้วนๆ เป็นอิสระจากร่างกายไปโดยลำดับ ต่อจากนั้นให้สลับด้วยการแผ่เมตตา เพื่อเป็นการลดละความมีตัวตน อันเป็นกำลังแก่สติ เพื่อให้สามารถคงสภาวะการรับรู้อย่างเป็นกลางๆ หรืออุเบกขา ไม่ให้จิตไหลไปกับสิ่งที่ถูกรู้ และตระหนักได้ว่า ใจผู้รู้ก็ส่วนหนึ่ง สิ่งที่ถูกรู้ก็ส่วนหนึ่ง ลมหายใจละเอียดก็ส่วนหนึ่ง กายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง เห็นสภาวะแยกรูปแยกนามในลักษณะที่ซ้อนๆ กันอยู่ และให้ใจผู้รู้นี้ไป พิจารณากายให้เห็นเป็นอสุภะ เน่าเปื่อยผุพัง เป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟไปตามลำดับ เห็นสภาวธรรมทุกอย่างไปตามความเป็นจริง เห็นไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตน จนเกิดความคลายออก ความจางคลายของความผูกพัน เยื่อใย อาลัย อาวรณ์ อันเกิดจาก แรงตัณหาอุปาทาน จนเกิดใจผู้รู้ที่อยู่เหนือขันธ์ ๕ อยู่เหนือสมมติบัญญัติทั้งหลาย

๑๐.ก่อนออกจากสมาธิ ให้ค่อยๆ ถอยสมาธิออกมาจากจิตมาสู่ความรู้สึก และถอยออกจากความรู้สึกมาสู่กายด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมตามลำดับ และจดจำสภาวะ อาการ ความสงบ ความรู้สึก และความเป็นไปของใจในขณะที่เจริญภาวนาดังกล่าว เพื่อว่าครั้งต่อไปที่เราเจริญภาวนา จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง ผู้ปฏิบัติจะได้น้อมใจเข้าสู่ความสงบได้ภายในเพียงชั่วไม่กี่นาที หรือไม่กี่วินาที จนถึงเพียงชั่วลัดนิ้วมือ

๑๑.ต่อไปค่อยๆ เรียกความรู้สึกตามเนื้อตามตัวทุกส่วนทั่วสรรพางค์กายคืนมาปกติ วางมือไว้บนหัวเข่าทั้งสองโดยหงายฝ่ามือออก แล้วแผ่เมตตา

๑๒.จากนั้น ค่อยๆ ลืมตา เบาๆ และออกจากสมาธิได้ ขอให้นักเรียนทุกคน หมั่นทบทวน ก่อนจะเข้าชั้นเรียนครั้งต่อไปนะ ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป


วิโมกข์

เจริญพร

การเดินทางเข้าสู่ใจผู้รู้นั้น ต้องอาศัยลมหายใจหรือลมปราณซึ่งเป็นส่วนของรูป (กายใน) อันเป็นสภาวะธรรมที่ละเอียดที่สุดของฝ่ายรูป ก่อนที่จะเข้าสู่ใจผู้รู้อ้นเป็นอรูป และสิ่งที่ละเอียดรองมาจากลมหายใจ ก็คือความรู้สึกทางใจอันปรุงแต่งด้วยกิเลสเกิดเป็นแรงหน่วงเหนี่ยว ผูกพัน เหนียวแน่นบ้าง คลายออกบ้างและค่อยๆ จางคลายไปโดยลำดับ และสิ่งที่ละเอียดรองลงมาจากความรู้สึกทางใจ (คือหยาบกว่าความรู้สึกทางใจ) ก็คือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วสรรพางค์กาย เบื้องต้นของการเดินทางเข้าสู่ใจผู้รู้ สติยังอ่อนและกำลังไม่พอ จึงต้องมีฐานที่อาศัยให้แก่สติ เริ่มจากฐานที่หยาบ ไปสู่ฐานที่ละเอียด และละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ ดังนั้น จึงเริ่มต้นจากอาศัยความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วสรรพางค์กายเป็นฐานของการเจริญสติ จนเมื่อสติอยู่กับกายสักระยะหนึ่ง สติจะมีกำลังมากขึ้น สติก็สามารถค่อยๆ ระลึกรู้ถึงความรู้สึกภายในอันเป็นอาการของใจที่ถูกปรุงแต่งด้วยกิเลสและเมื่อสติมีที่เกาะอันเป็นฐานใหม่คือความรู้สึกทางใจ จนรู้ชัดในความรู้สึกทางใจอันเป็นสภาวะ ธรรมที่ละเอียดกว่าความรู้สึกทั่วสรรพางค์กาย พอสติมีเครื่องรู้เครื่องอาศัยอันเป็นฐานที่ตั้งของสติที่ละเอียดกว่า สติก็จะค่อยๆ วางความรู้สึกทางกายอันเป็นฐานที่หยาบ กว่าไปเองโดยอัตโนมัติ อนึ่ง ลมหายใจ ก็เป็นส่วนของรูป (คือเป็นกายใน) แต่สภาวะธรรมของลมหายใจ มีทั้งหยาบ ละเอียด จนละเอียดสุดเป็นลมปราณที่หล่อเลี้ยงขันธ์ ๕ นี้ ในเบื้องต้น เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติระลึกอยู่ในความรู้ตัวทั่วพร้อมทั่วสรรพางค์กายอันเป็นกายภายนอก จะเห็นว่าในขณะเดียวกัน ก็สามารถรู้ถึงลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งเป็นรูป (กายภายใน) แต่ยังเป็นลมหายใจที่หยาบอยู่ ต่อเมื่อมีสติระลึกอยู่ในความรู้สึกที่เป็นไปในภายใน อันเป็นอาการทางใจ ซึ่งเป็นฐานที่ละเอียดขึ้น ลมหายใจก็จะละเอียดขึ้น สติก็จะพัฒนา มีกำลังและความละเอียดมากขึ้น ต่อจากนั้น ผู้ปฏิบัติจะเริ่มสังเกตเห็นว่าตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่เราประคองไว้ช่วงบนเหนือไหล่ขึ้นไป จะเริ่มรู้สึกได้ชัดขึ้น อันเป็นผลจากการที่ผู้ปฏิบัติ ได้ละวางความรู้สึกทางร่างกายไปทีละน้อย ทีละน้อยๆ ทำให้สัมปชัญญะอันเป็นความรู้สึกที่เกาะอยู่กับร่างกายหรือทั่วสรรพางค์กายอยู่ ผละออกจากกายเป็นอิสระและเข้ามา รวมเป็นตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่เราได้ประคองไว้ช่วงบนตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันเมื่อเรามีสติรู้ทั่วถึงถึงความรู้สึกที่เป็นไปในภายในอันเป็นอาการทางใจต่างๆ นานา จนเริ่มละวางอาการทางใจนั้นๆ ไปโดยลำดับ ความรู้สึกทั่วถึงที่เป็นไปในภายในอันเป็นสัมปชัญญะภายในก็จะเป็นอิสระ ลอยขึ้นมารวมตัวกับตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่ เราได้ประคองไว้ช่วงบนตั้งแต่ต้น เป็นอันว่าสัมปชัญญะที่เป็นความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่เป็นไปภายนอกทั่วสรรพางค์กายและสัมปชัญญะที่เป็นความรู้สึกทั่วถึงที่เป็นไป ภายในได้มารวมตัวกันกับตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่เราได้ประคองไว้ช่วงบนตั้งแต่ต้น ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาไปเป็นใจผู้รู้ที่ถึงพร้อมด้วยญาณทัสสนะ หรือวิปัสสนาญาณ ไปตามลำดับแห่งการบำเพ็ญ อุบายในขั้นละเอียดของการพัฒนาตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้นี้ให้เป็นญาณทัสสนะ ยังคงต้องอาศัยเจริญสติบนลมหายใจที่ละเอียด ซึ่งขณะนี้จะเป็นลมหายใจที่ละเอียดมากๆ จนเรียกว่าเป็นลมปราณก็ได้ กล่าวคือให้รู้สึกถึงลมหายใจที่ละเอียดมากๆ นี้ ไปพร้อมกับรู้สึกถึงตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่ชัดขึ้น ผ่องใสขึ้น จนค่อยๆ ฉายแสงจิตออกมาสว่าง กระจ่าง ผ่องใสไปโดยลำดับ ในชั้นนี้ ผู้ปฏิบัติมักจะรีบร้อนวางลมหายใจไปอยู่กับแสงสว่างโอภาสนั้นอันเป็นอรูป และไปนิ่งอยู่ในอรูปนั้น จึงเป็นการพลัดหลงเข้าไปเจริญในอรูปฌานโดยไม่ตั้งใจ คือ แทนที่จะดำเนินเข้าสู่รูปฌานทั้ง ๔ แต่กลับพลัดหลงไปสู่อรูปฌาน และหากละสังขารอยู่ในอรูปเช่นนี้ ก็จะไปเกิดเป็นอรูปพรหม ซึ่งทำให้เนิ่นช้า หรือถ้าไปหลงเพลินอยู่กับอรูป จนดับสัญญาในอรูปซี่งเป็นอรูปฌานที่ ๘ และไม่สามารถเจริญสติจนหลุดอรูปฌานที่ ๘ ไปสู่สมาบัติที่ ๙ คือสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติได้ อันนี้ หากไปละสังขารโดยยึดอรูปฌานที่ ๘ เป็นอารมณ์ ก็จะไปเกิดเป็นอสัญญีพรหม ซึ่งทำให้ฉิบหายในธรรมวินัยนี้ เพราะเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องมาศึกษาหาความรู้นับหนึ่งใหม่ เพราะสัญญาทั้งหลายรวมทั้งสัญญาในทางธรรมได้ถูกลบหายออกไปเกือบหมดหรือหมดเลย จึงต้องมาเริ่มวิวัฒนาการสร้างเสริมบำเพ็ญปัญญาบารมีกันใหม่ พระพุทธองค์จึงใช้คำว่า "ฉิบหายไปจากพระธรรมวินัยนี้"