ธรรมเทศนา โครงการ…วิปัสสนาจารย์
วันที่ 27 กรกฎาคม 2548
โดยพระสว่าง ติกขะวีโร
เรื่อง...วิธีสอบอารมณ์
ขอความนอบน้อมจงมีแด่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสัจธรรมและเหล่าอริยสงฆ์เจ้าทั้งหลายขอความเจริญในธรรมจงมีแด่โยคีผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน วันนี้ก็เป็นวันที่ 4 ของการประพฤติปฏิบัตินั่งตามสบายนะ ซึ่งอาจารย์ก็ได้สอบอารมณ์ดูแล้วก็ดูพฤติกรรมโดยทั่วไปแล้วโยคีผู้ประพฤติปฏิบัติก็ยังมีความบกพร่องกันอีกหลายจุด ครูบาอาจารย์ก็จะได้แนะนำหรือว่าแก้ไขในส่วนที่บกพร่องนั้น
การส่งอารมณ์ สอบอารมณ์ หลายคนหลายท่านก็ยังส่งไม่เป็นสอบไม่เป็นนะ อาจารย์ก็เลยจะได้แนะวิธีส่งอารมณ์และสอบอารมณ์ว่าควรจะส่งหรือสอบแบบไหนจึงจะเกื้อต่อการประพฤติปฏิบัติ ทีนี้อาจารย์ไปศึกษามาเป็นภาษาพม่านะจะต้องยกภาษาพม่าขึ้นมาแล้วก็ยกภาษาไทยอธิบายอีกทีหนึ่งแปลมาเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง ท่านบอกว่า “ทะเวฮ่องโกวๆ ฮ่องเสทะเลสิวังหม่า” หมายถึงว่า ให้นั่งคู้บัลลังค์ตั้งกายให้ตรงๆ จากนั้นเอาสติไประลึกที่อาการของท้อง “ปงมังฉุ่ยฉ่าย ผงเป็งไข้ซู้ไส้กั๊ดไลบ่า” หมายถึง จากนั้นหายใจเข้าออกเป็นปกติแล้วก็ให้ใส่ใจที่อาการอารมณ์ตอนนั้นจริงๆ ก็คืออาการพองอาการยุบต้องใส่ใจกำหนดรู้ตรงนั้นจริงๆ ท่านใช้คำว่า “ซู้ไส้กั๊ดไลบ่า” หมายถึงว่า ใส่ในการระลึกอาการท้องจริงๆ พองก็พองหนอ ยุบก็ยุบหนอ ให้รู้ตามอาการนั้น อีกตัวประการหนึ่งก็สำคัญท่านบอกว่า “สิ๊งเหน่เติ้บเฉ้ง อะบิกเก๊ง ก๊องเย้งอะมังบ่า” หมายถึงว่า ใจของเราต้องปราศจากความยินดีแล้วก็ความยินร้ายจริงๆ ตรงนี้หลายคนยังทำใจไม่เป็น แล้วก็เวลาที่ใส่ใจไปที่ท้องแล้วเนี่ยท่านให้ดูตรงไหน ท่านบอกว่า “ต้องเตงโห่ลชา โย่ยๆ ชา ไปชาติ๊เหน่บ่า” หมายถึงว่า ดูอาการเคลื่อนไหวของท้อง ที่ท่านบอกว่าส่งใจไปที่ท้องแต่ไม่ดูตัวท้องดูอาการเคลื่อนไหวของท้องหมายถึงว่าสภาพ “ต้องเตงโห่ลชา โย่ยๆ ชา ไปชาติ๊เหน่บ่า” ดูอาการเคลื่อนไหวของเค้า “ซิกัวโล้ว ซ้งปัวลา ปัวกงไล่ชู่บ่า” บางครั้งเกิดความคิดแทรกเข้ามาก็ให้ไปกำหนดรู้ตรงนั้น “โซว่กงลิ มุซังคามู่ ไลชู่มอเม่ยย่า” บางครั้งเกิดทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ให้ไปกำหนด สุขเวทนาเกิดขึ้นก็ให้กำหนด อุเบกขาเวทนาเกิดขึ้นก็ให้กำหนดรู้ลักษณะตรงนั้น “เมียงจาตุ้ยมู่ จังตุ้ยมู่ ไล่ชู่มอเม่ยย่า” หมายถึงว่า เห็นก็ให้กำหนด ประสบหรือว่าพบในขณะที่ประพฤติปฏิบัติอยู่นั้นเกิดนิมิตขึ้นมาไปเห็นอย่างนั้นหรือว่าประสบอย่างนั้นก็ให้กำหนดหรือว่าเกิดความคิดเกิดการปรุงแต่งขึ้นมาก็ให้กำหนดรู้ลักษณะตรงนั้น ท่านบอกว่า “เมียงจาตุ้ยมู่ จังตุ้ยมู่ ไล่ชู่มอเม่ยย่า” ก็คือให้กำหนดให้หมดตามกำหนดรู้อาการตรงนั้นให้หมด จากนั้นท่านบอกว่าไงเวลาที่ส่งอารมณ์และสอบอารมณ์ท่านบอกว่า “พองมู่ปอลา ชู่มัดตา ตี๊ดาเปี้ยวเหน่เส้” หมายถึงว่า ขณะที่พองเกิดขึ้นเราก็ไปกำหนด กำหนดแล้วเนี่ยได้รู้อะไรได้ประสบการณ์อะไรให้บอก “ปิงมู่ปอลา ชู่มัดตา ตี๊ดาเปี้ยวเหน่เส้” หมายถึงว่า บางครั้งเกิดยุบแล้วเรากำหนด กำหนดแล้วเนี่ยได้รู้อะไร ได้รู้อะไรได้ประสบการณ์อะไรก็ให้บอก “คังสาปอลา ชู่มัดตา ตี๊ดาเปี้ยวเหน่เส้” หมายถึงว่า เกิดปวดขึ้นมา เจ็บ ตึง เมื่อย อะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ให้กำหนด กำหนดแล้วเนี่ยได้รู้อะไร ได้ประสบการณ์อะไรก็ให้บอก “สิกู๊ปอลา ชู่มัดตา ตี๊ดาเปี้ยวเหน่เส้”หมายถึงว่า เกิดความคิดแทรกเข้ามาก็ให้กำหนด กำหนดแล้วเนี่ยได้รู้อะไร ได้ประสบการณ์อะไรก็ให้บอก “ตะโหว้ปอลา ชู่มัดตา ตี๊ดาเปี้ยวเหน่เส้” หมายถึงว่า ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น ก็ให้กำหนด กำหนดแล้วเนี่ยได้รู้อะไร ได้ประสบการณ์อะไรก็ให้บอก “ปอตา ชู่ตา ตี๊ดาโต่เต้เคี้ยวเป่” หมายถึงว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้น ตัวกำหนด และก็ตัวรู้ สามอย่างเนี่ยสำคัญ แล้วก็ย้ำอีกที “อะเช้โต่ เช้โต่ เตชา สิงุ๊บเปเหนี่ยวเซ” หมายถึงว่า อารมณ์ทั้ง 3 ตัว 3 อย่างเนี่ยสำคัญ สภาพอารมณ์ที่เกิดขึ้น ตัวกำหนดแล้วก็ตัวรู้ จากนั้นท่านบอกว่า “เตงต้วยยา เชียงโกยโชว เตงโตยตา ต้องตะเช” หมายถึงว่า ขณะที่ส่งอารมณ์หรือสอบอารมณ์นั้นใช้เวลาตอนนั้นให้เกิดประโยชน์ที่สุด “โตๆ เชี้ยงๆ ปูเมยดริ้ง หลุยยิงโกยตาเปี้ยวเหน่ยเช”หมายถึงว่า คำพูดต้องสั้น ชัดๆ แล้วก็กระชับๆ โตๆ ก็หมายถึงว่า สั้นๆ เชี้ยงๆ ก็หมายถึงว่า ชัดๆ ปูเมยดริ้ง…ไม่เอาคำพูดอื่นเข้ามา หลุยยิงโกยตาเปี้ยวเหน่ยเช…เอาเฉพาะประสบการณ์ที่ได้จากการกำหนด แล้วก็ย้ำอีกทีว่าการส่งอารมณ์และสอบอารมณ์เนี่ยควรจะส่งในลักษณะไหน แล้วก็โดยสรุปอีกทีหนึ่ง “อายมปอไข้ สิอาไส้ กัดไล่มาไล่เปียว” หมายถึงว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากนั้นเราไปกำหนด กำหนดแล้วจะรู้ว่าอะไร คำว่า “อารมณ์” ในที่นี้ หมายถึง อารมณ์ของกรรมฐานนะ อารมณ์ของกรรมฐานได้แก่อะไรโยมโพงทอง อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานได้แก่อะไร รูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้กำหนดรู้ เพราะฉะนั้นเนี่ย “อายมปอไข้ สิอาไส้ กัดไล่มาไล่เปียว” หมายถึงว่า รูปธรรมเกิดขึ้นเราก็ใส่ใจในการกำหนดรู้ กำหนดได้หรือไม่ได้ก็ให้บอก “เซซัดทิไข้ ทิมิไป นัดใหม่มะไหน่เปียว” ถ้าเรากำหนดอย่างนั้นแล้วเนี่ย กำหนดเป็นยังไงก็ให้บอก “มั่นไหน่บาก่า ติ๊เตยย่า โหลว่ามะไหน่อ่อเปียว” ถ้าเรากำหนดได้อะไรที่ปรากฏเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น “มะหมั่นไนก้า เพียะตะย่า เพียะโป่งเปียว” ถ้าเรากำหนดอย่างนั้นไม่ได้แล้วเราไปกำหนดอะไร ยกตัวอย่างเช่น พองยุบไม่ปรากฏ จากนั้นเราก็ไปกำหนดนั่งหนอถูกหนอ เป็นต้น ก็ให้บอกไปตามนั้น จากนั้นนั่งหนอถูกหนอที่เรากำหนดอาการเป็นยังไงอีกก็ให้บอก เข้าใจนะ ถ้างั้นก็คงไม่ต้องอธิบายแล้ว ไม่ต้องยกตัวอย่างแล้วเพราะเข้าใจแล้ว แต่บางคนก็อาจจะไม่เข้าใจนะ อาจารย์ก็จะยกตัวอย่างให้ดูว่าเหมือนกับโยคีชาย สมมติว่าอาจารย์เป็นโยคีชายในการส่งอารมณ์และสอบอารมณ์…วันนี้ผมเดินระยะที่ 1 กับระยะที่ 3เดินระยะที่ 1 ใช้เวลาเดิน 20 นาที ระยะที่ 3 เติมต้นจิตว่าอยากอีก 40 นาทีเป็นชั่วโมงหนึ่ง ขณะที่เดินระยะที่ 1 ผมกำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ บางเนี่ยพอกำหนดว่า ขวาย่างหนอ จะเห็นอาการของเท้าเนี่ย บางครั้งเกิดอาการหนัก บางครั้งเกิดอาการตึง ขณะที่ย่างออกไปบางครั้งเนี่ยเหมือนกับมีแรงผลัก บางครั้งขณะที่กระทบสัมผัสที่สุดแล้วก็กำหนดว่าหนอจะเห็นอาการที่กระทบสัมผัสนั้นเกิดความรู้สึกแข็งบ้าง บางครั้งก็นุ่ม บางครั้งก็จะรู้สึกถึงความเย็น บางครั้งขณะที่ย่างอยู่เกิดความคิดแทรกเข้ามา ผมก็กำหนดว่าคิดหนอ บางครั้งกำหนดแค่ครั้งเดียวความคิดนั้นก็ดับไปผมก็เดินต่อ บางครั้งเนี่ยกำหนดแล้วความคิดยังปรากฏอยู่ ผมก็กำหนดย้ำเข้าไปว่าคิดหนอๆๆๆๆ หยุดแล้วก็กำหนดความรู้สึกตรงนั้นจนอาการตรงนั้นดับไป บางครั้งเนี่ยจะเห็นอาการนั้นค่อยๆ จางๆ ดับไปแล้วก็เดินต่อ บางครั้งขณะที่เดินอยู่ขณะที่สัมผัสกับพื้นเกิดได้ยินเสียงดังขึ้นมา พอเท้าสัมผัสกับพื้นพอยินเสียงดังขึ้นมาผมก็กำหนดว่าได้ยินหนอ จะเห็นเสียงนั้นค่อยๆ จางๆ แล้วก็ดับไป บางครั้งเนี่ยเสียงนั้นดังตลอดผมก็กำหนดแค่ 3 ครั้งว่า ได้ยินหนอๆๆ จากนั้นก็ไม่สนใจแล้วเดินต่อ บางครั้งเสียงดังชั่วครั้งชั่วคราวผมก็กำหนดว่าได้ยินหนอๆๆ จนเสียงนั้นดับไปหมดไปผมก็เดินต่อจนครบเวลา ส่วนการเดินระยะที่ 3 พร้อมต้นจิต บางครั้งขณะกำหนดว่าอยากยกหนอเท้าเนี่ยจะเคลื่อนขึ้นมาเอง บางครั้งขณะที่ยกขึ้นมาจะรู้สึกถึงความหนืดจะรับรู้ถึงความหนักผมก็ใส่ต้นจิตเติมต้นจิตเข้าไปให้ถี่ว่า “อยากยกหนอ ยกหนอ อยากยกหนอ ยกหนอ” ช่วงย่างก็เหมือนกันบางครั้งจะรู้สึกย่างลำบากผมก็ใส่ต้นจิตเข้าไปว่า “อยากย่างหนอ ย่างหนอ อยากย่างหนอ ย่างหนอ” แล้วก็อยากเหยียบหนอ เหยียบหนอ จะเห็นอาการของเท้า บางครั้งจะรับรู้ถึงอาการหนืด บางครั้งจะรับรู้ถึงอาการเบา บางครั้งพอกำหนดว่าอยากย่างหนอ เค้าเหมือนถูกแรงผลักแล้วก็เคลื่อนไปโดยง่ายดาย บางครั้งพอกระทบสัมผัสกับพื้นจะรับรู้ถึงอาการหนักของเท้าพร้อมกับกระทบถึงความเย็นความแข็ง บางครั้งขณะที่เดินอยู่มีความรู้สึกปวดขึ้นมาผมก็หยุดแล้วกำหนดว่า “ปวดหนอๆๆ” จนอาการปวดนั้นทุเลาผมก็เดินต่อจนครบเวลา
ส่วนการนั่งบางครั้งผมใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่ง บางครั้งก็ชั่วโมงเศษๆ ขณะที่นั่งไปผมก็ไปกำหนดพองหนอ ยุบหนอ อาการพองอาการยุบบางครั้งเห็นอาการพองอาการยุบจะเป็นจังหวะๆ แล้วก็ยาว ผมก็กำหนดว่า พองๆๆๆๆ สุดก็หนอ ยุบก็เหมือนกันผมก็กำหนดว่า ยุบๆๆ หนอ ตามอาการที่เป็น บางครั้งพองจะสั้นยุบจะสั้นไม่สามารถใส่คำว่าหนอได้ผมก็กำหนดว่า พองยุบๆๆ ตามอาการ บางครั้งพองยุบจะรู้สึกแผ่วมากผมก็ใส่ใจมากขึ้นแล้วก็สังเกตอาการพองอาการยุบมากขึ้นจะเห็นอาการพองอาการยุบ รู้สึกว่ามันแผ่วแล้วก็เหมือนการกระเพื่อมของน้ำมีแรงกระเพื่อมลักษณะอย่างนั้นผมก็กำหนดไปตามอาการตรงนั้น บางครั้งขณะที่กำหนดพองยุบอยู่นั้นเกิดความคิดแทรกขึ้นมาผมก็ทิ้งอาการพองยุบไปแล้วกำหนดว่าคิดหนอๆ แล้วขณะที่กำหนดว่าคิดหนอๆ จะเห็นอาการคิดค่อยๆ จางๆๆ ดับไป บางครั้งขณะที่กำหนดอันเก่าดับไป ความคิดใหม่ก็แทรกขึ้นมาผมก็กำหนดว่าคิดหนอๆๆ จนความคิดนั้นดับไปผมก็นั่งต่อ บางครั้งขณะที่กำหนดพองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้นอาการพองยุบไม่ชัดเจนจะกำหนดลำบากมากผมก็ไปกำหนดนั่งหนอ ถูกหนอ ขณะที่กำหนดนั่งหนอจะรับรู้ถึงอาการนั่งมีลักษณะที่เป็นแท่งๆ ลักษณะที่ตั้งๆ บางครั้งขณะที่กำหนดถูกหนอๆ จะเห็นอาการถูกมีลักษณะแข็ง บางครั้งมีลักษณะนุ่ม บางครั้งจะรับรู้ถึงความอุ่นตรงจุดที่กระทบสัมผัส บางครั้งขณะที่กำหนดนั่งหนอถูกหนออยู่เกิดปวดขึ้นมาผมก็ทิ้งอาการนั่งถูกแล้วไปดูปวดกำหนดว่าปวดหนอๆ วางใจให้เบาแล้วก็ดูอาการตอนนั้นจะเห็นอาการปวด บางครั้งเคลื่อนไปผมก็ดูตามอาการ บางครั้งปวดมีหลายจุดผมก็ไปดูจุดที่ชัดเจนแล้วกำหนดวางใจให้เบาว่าปวดหนอๆ บางครั้งจะดูได้อย่างสบาย บางครั้งพอกำหนดไปสักระยะหนึ่งใจรู้สึกว่ากระสับกระส่ายทนไม่ไหว ผมก็ทิ้งอาการปวดตรงนั้นแล้วไปดูที่ใจว่าทนไม่ไหวหนอๆๆ จนความรู้สึกที่ทนไม่ไหวดับไปผมก็มาดูปวด วางใจได้สบาย วางใจได้เบา อาการรู้สึกจะไม่ทรมาน ผมก็กำหนดอย่างนั้นไปจนครบเวลา
ส่วนอิริยาบถย่อยขณะที่กราบบางครั้งขณะที่เคลื่อนมือไปจะเห็นอาการเคลื่อนเป็นจังหวะๆ ขณะที่กระทบสัมผัสกับหน้าผากจะรับรู้ถึงความนุ่ม บางครั้งจะรับรู้ถึงความเย็น บางครั้งจะรับรู้ถึงความอุ่น ขณะที่เคลื่อนลงบางครั้งเหมือนจะมีแรงผลักลงหรือแรงดูดลง บางครั้งขณะที่กระทบสัมผัสกับพื้นบางครั้งจะรับรู้ถึงความเย็นบางครั้งจะรับรู้ถึงความแข็ง ขณะที่ทานอาหารบางครั้งขณะที่เคี้ยวจะเห็นอาการเคลื่อนไหวของขากรรไกร บางครั้งอาการเลื่อนไหลของอาหารที่กลืนลงไปจะเห็นอาการเลื่อนไหลไป บางครั้งจะมีน้ำเมือก มีน้ำลาย มีเสมหะออกมา ผมก็เห็นอาการตรงนั้นแล้วก็รู้สึกขยะแขยงรู้สึกไม่อยากจะทานอาหาร แต่พอกำหนดไปความรู้สึกตรงนั้นก็ดับไปผมก็ทานจนครบเวลา อันนี้โดยสรุปตัวอย่างนะ ใครที่ส่งอารมณ์ลักษณะอย่างนี้บ้างวันนี้ น้อยมาก ส่วนใหญ่จะวันนี้รู้สึกกำหนดได้ดีกว่าเมื่อวาน เดินก็รู้สึกได้ดี บางคนก็หนักเข้าไปอีก เวลาเดินยังไง…ก็เดินอย่างที่อาจารย์บอก แล้วนั่งละ…ก็กำหนดอย่างที่อาจารย์บอก อาจารย์บอกยังไงก็ทำได้หมดก็เลยไม่รู้ว่ายังไง เพราะฉะนั้นการส่งอารมณ์ในลักษณะอย่างนี้ไม่เกื้อต่อการประพฤติปฏิบัติ ควรจะส่งในลักษณะอย่างที่อาจารย์บอกเป็นแนวทางแต่ไม่ต้องตามอาจารย์ทั้งหมดนะให้สังเกตแล้วก็รู้ตามอาการตรงนั้น ถ้าใส่ใจในการสังเกตจริงๆ แล้วเราจะสามารถรู้อย่างที่ครูบาอาจารย์บอก แล้วก็เรื่องสายตาก็เป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องสายตากับความไวเป็นเรื่องสำคัญมากในการเจริญวิปัสสนาก็คือ สายตาก็ต้องพยายามเก็บ อยู่ตรงไหนก็ตามพยายามที่เก็บสายตาให้ดีแล้วก็ฝึกช้าๆ เข้าไว้ แล้วก็ใส่ใจในการสังเกต
อาจารย์เคยย้ำแล้วก็บอกอยู่เสมอว่าเรามาเจริญวิปัสสนาเราต้องมาทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าเจริญวิปัสสนาจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร จากนั้นเราก็ต้องวางใจให้เป็น แล้วก็ใส่ใจให้เป็น เข้าใจหมายถึงว่าเรามาเจริญวิปัสสนาเราไม่ได้มาเพื่อจะเอาต้องเข้าใจอย่างนั้น เรามาเจริญวิปัสสนาจุดมุ่งหมายจริงๆ เพื่อ “ละ” นะ ทีนี้การที่จะละตรงนั้นได้ต้องยังไงซะก่อน ต้องรู้ก่อน เพราะวิปัสสนาจริงๆ จุดมุ่งหมายก็คือ “รู้” รู้เท่าทันอะไร…รูปธรรม นามธรรม ซึ่งกำลังปรากฏอยู่ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นรูปธรรมนามธรรมจะเป็นรูปไหนนามไหนก็ตาม โยมวางใจที่เข้าไปรู้เขาวางใจให้เป็น ถ้าไปอคติต่อรูปหนึ่งนามหนึ่งแล้วอกุศลจิตเกิดขึ้น เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วจะรู้เห็นตามความเป็นจริงไม่ได้ รู้ไม่ได้ เห็นไม่ได้ เพราะว่าอคติมันเป็นตัวกั้นซะแล้ว สมมติว่าโยมไม่ชอบใครคนใดคนหนึ่งพอเห็นเค้าปุ๊บเค้ายิ้มให้ ถ้าลึกๆ เราไม่ชอบอยู่แล้วเป็นยังไงคนนี้…สงสัยมันยิ้มเยาะชั้น ใช่มั๊ยถ้าเราไม่ชอบ แต่ถ้าชอบคนนั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเค้ายิ้มให้ชอบใจใหญ่ชอบใจในบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนาเราไม่เน้นตัวชอบใจไม่ชอบใจกันตัวนี้ออกไป เอาตัวรู้เป็นตัวหลักเพราะการเจริญวิปัสสนาอรรถวิเคราะห์เค้าว่า “วิเสเสนะ ปัสสตีติ วิปัสสนา” การเข้าไปรู้เข้าไปเห็นความจริงโดยวิเศษชื่อว่าวิปัสสนา เพราะฉะนั้นรู้ในที่นี้เห็นในที่นี้ รู้อะไรเห็นอะไร อารมณ์ของวิปัสสนาได้แก่ “รูปธรรม นามธรรม” เพราะฉะนั้นรูปธรรมนามธรรมเป็นอารมณ์ก็ต้องเห็นรูปธรรมนามธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นรูปธรรมนามธรรมที่เราใส่ใจกำหนดรู้นี้ก็คือเป็นปัจจุบันธรรมกำลังปรากฏอยู่ เช่น พองหนอ ยุบหนอ อาการพองอาการยุบที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ตัวกระตุ้นที่ให้เกิดพองยุบเป็นรูปของนามธรรม ตัวรู้เป็นสภาพของนามธรรม เพราะฉะนั้นรูปธรรมนามธรรมปรากฏอยู่แล้ว แม้ว่าสภาพปวดเป็นสภาพของนามธรรม สติที่ไประลึกดูอาการปวดตรงนั้นเป็นสภาพของนามธรรม เพราะฉะนั้นสภาพรูปธรรมนามธรรมเค้าจะมีลักษณะเฉพาะๆ ของเค้าอยู่ ปวดเป็นเวทนามั๊ย เค้าเรียกว่าอะไรเวทนา ความพอใจในสภาพปวดเป็น “โสมนัสเวทนา” ความไม่พอใจในสภาพปวด คนที่พอใจในสภาพปวดมีมั๊ย…มี บางคนฟุ้งมากๆ อยากจะให้สภาพปวดเกิดมีมั๊ย พอกำหนดสภาพปวดแล้วจิตมันไม่คิดไปไหน ไม่ฟุ้งไปไหน อยากจะให้สภาพปวดเกิดมีมั๊ย นั่นก็แสดงว่าพอใจในสภาพปวด สภาพที่พอใจในสภาพปวดเป็น “โสมนัสเวทนา” สภาพที่ไม่พอใจในสภาพปวดเป็น “โทมนัสเวทนา” เวทนาทั้ง 3 จริงๆ ก็คือ เวทนา เพราะฉะนั้นบางคนไปส่งอารมณ์บอกว่าเวลาที่โยมกำหนดพองหนอยุบหนอเวทนาเกิดขึ้น อาจารย์จะเข้าใจได้ยังไงว่าเวทนาอะไร โสมนัสก็มี โทมนัสก็มี ทุกขเวทนาก็มี สุขเวทนาก็ยังมีอีก อุเบกขาเวทนาก็ยังมีอีก เพราะฉะนั้นคำว่าเวทนามี 3 หรือ 5 เพราะฉะนั้นการส่งอารมณ์บอกว่าวันนี้โยมมีเวทนาเยอะกำหนดไม่ค่อยได้นั่งไม่ค่อยได้นาน…ไม่รู้เวทนาอะไร ส่งอย่างนี้ไม่ควรจะส่ง ไม่ควรจะสอบอารมณ์ในลักษณะอย่างนี้ โสมนัสเป็นเวทนาทางใจโทมนัสก็เป็นเวทนาทางใจแต่ทุกขเวทนาและสุขเวทนาเป็นเวทนาทางกาย เวทนามีสอง ส่วนอุเบกขาเวทนา เฉยๆ เป็นเวทนาทางใจ เวทนาทางกายมีไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงเวทนา 3 ก็หมายถึงว่า โสมนัสเวทนากับสุขเวทนาก็ถือว่าเป็นเวทนาเดียวกันไม่ได้แยกกายกับใจ แต่โสมนัสเวทนากับทุกขเวทนาก็จัดอยู่ในทุกขเวทนารวมกันไม่ได้แยกเวทนากายทางใจ แล้วก็มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ก็หมายถึงเวทนา 3 ไม่ได้แยกว่ากายกับใจ แต่ว่าถ้าแยกกายกับใจออกไปก็ต้องแยกเป็นโสมนัสเวทนากับโทมนัสเวทนาออกไปทางใจ
ที่อาจารย์บอกว่าเรามาเจริญวิปัสสนาจุดมุ่งหมายคือให้รู้ รู้เท่าทันรูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นตามความเป็นจริงให้เห็นตามที่เค้าเป็นเพราะฉะนั้นสภาพเค้าเกิดขึ้นอย่างไรคือให้รู้อย่างนั้น สุขแสดงอาการตามที่เค้าเป็นมั๊ย…แสดง ทุกข์ก็แสดงตามอาการ โสมนัสก็แสดงอาการตามที่เค้าเป็น ทีนี้ทำไมถึงต้องมาเจริญวิปัสสนาอยู่ข้างนอกสุขเค้าก็แสดงอาการของเขา ทุกข์ก็แสดงอาการของเขา โสมนัสโทมนัสก็แสดงอาการของเขา ทำไมถึงต้องมาเจริญวิปัสสนาที่ยุวพุทธิกสมาคมละ สุข…ทุกคนมีสุขมั๊ย มีทุกข์มั๊ย มีโสมนัสมั๊ย โทมนัส อุเบกขามีมั๊ย…มี มีอยู่ในตัวทุกคน แล้วทำไมมาเจริญวิปัสสนาขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือว่าพองหนอ ยุบหนอ เพราะอะไร เพราะว่าขณะที่อยู่ข้างนอกเนี่ยสุขเกิดขึ้นเราไม่เห็นตามความเป็นจริงใครสุข ใครเป็นคนสุข…เรา ใครเป็นคนทุกข์…เรา ใครเฉยๆ ก็เราอีก ความเป็นเราเป็นเขาเป็นสัตว์เป็นบุคคลถูกครอบงำอยู่ แต่พอมาเจริญวิปัสสนาสุขเกิดขึ้นอาจารย์ให้ใส่ใจไปรู้ตรงนั้นแล้วกำหนดว่า สุขหนอๆ เวลาทุกข์ก็ทุกข์หนอๆ พอใจก็พอใจหนอๆ เห็นตามความเป็นจริง พอเห็นตามความเป็นจริงแล้วอาจารย์ประจากบอกว่า สามารถละ สามารถถอน เป็นกรรมฐาน เป็นสติปัฎฐานภาวนาขณะที่กำหนดรู้ลักษณะตรงนั้นเห็นตามความเป็นจริง การกำหนดครั้งหนึ่งๆ สามารถรู้เท่าทันอย่างนั้นนะ แค่รู้เท่าทันสภาพรูปธรรมตรงนั้นตามความเป็นจริงครั้งหนึ่งๆ สามารถละ สามารถถอน เป็นกรรมฐานเป็นสติปัฎฐานภาวนา สมมติว่าปวดเกิดขึ้นเราก็กำหนดว่าปวดหนอ อะไรเกิดขึ้น ขณะที่กำหนดว่าปวดหนอสภาพปวดที่กำลังปรากฏอยู่ปวดดีหรือไม่ดี ตัวปวดดีหรือไม่ดี คือทุกคนจะไม่ชอบใจในสภาพปวดใช่มั๊ยเห็นอาการปวดก็ไม่ชอบอยู่แล้ว แต่อาการปวดทั้งๆ ที่ไม่ดีตรงนั้นเป็นผลให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้นได้มั๊ย สิ่งที่ดีในที่นี้ได้แก่ “วิปัสสนา” ทำให้วิปัสสนาเกิด ปวดหนออะไรที่เข้าไปรู้เห็นสภาพตามความเป็นจริงตอนนั้น ตัววิปัสสนาไง เรามาเจริญวิปัสสนาเพราะฉะนั้นปวดตรงนี้เป็นฐานให้วิปัสสนาเกิดได้ เพราะฉะนั้นตัววิปัสสนาดีมั๊ย…ดี ถ้าเราวางใจเป็น แต่ถ้าเราวางใจไม่เป็นตัวอะไรเกิดขึ้นแทนตัววิปัสสนา สภาพปวด ไม่พอใจ อะไรเกิดขึ้นแทนวิปัสสนา เค้าบอกว่าให้ตามเห็นเวทนาในเวทนาเพื่อมีสติมีสัมปัชชัญญะเพื่อจะกันอวิชชาและโทมนัสไม่ให้เกิดขึ้น สมมติว่าโยมไปพอใจในสภาพปวด อะไรเกิดขึ้น อวิชชาเกิดแล้ว ไม่ไปพอใจในสภาพปวด อะไรเกิดขึ้น โทมนัสเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นขณะที่เราใส่ใจรู้ว่าปวดหนอๆ แต่ละหนอนั้น เห็นสภาพปวดตามความเป็นจริงอะไรเกิดขึ้น วิปัสสนาเกิดขึ้น วิปัสสนาเกิดขึ้นตัวเดียวรึเปล่า บริการของวิปัสสนาตัวไหนเป็นตัวนำ ตัวสติไประลึกรู้ในสภาพตรงนั้น ตัวสมาธิ ตัวศรัทธา ตัววิริยะ เกิดร่วมกับตัววิปัสสนา ตัวปัญญาเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น เพราะฉะนั้นขณะที่กำหนดว่าปวดหนอๆ เรารู้ลักษณะตรงนั้นตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริง เสียมั๊ยละ ไม่เสียเลย บางคนบอกว่าโยมก็พยายามกำหนดนะพระอาจารย์แต่ชั่วโมงไปแล้วชั่วโมงครึ่งไปแล้วมันก็ยังไม่หาย พูดอย่างนี้หมายความว่ายังไง…อยากจะให้หาย นั่นแสดงว่าลึกๆ แล้วอะไรเกิดขึ้น ณ ขณะที่เรากำหนดอย่างนั้น เราไม่ได้รู้จริงๆ แต่ว่าจุดมุ่งหมายก็คือจะให้หาย เพราะฉะนั้นอกุศลที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นอกุศลอะไรก็ตามเป็นฐานให้กุศลเกิดได้หมด แต่กุศลจะเกิดขึ้นได้ต้องเอาสติเป็นตัวนำ ตัวปัญญาจึงจะรู้ตามตรงนั้น เห็นมั๊ยว่าสติกับสัมปัชชัญญะเกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นโยคีต้องเข้าใจว่าเรามาเจริญวิปัสสนาเรามาเพื่อจะรู้ รู้แล้วจึงจะละได้ที่อาจารย์เคยอุปมา โยมไม่พยายามที่จะละแต่พยายามเข้าไปรู้มันละเอง ทำไมถึงพูดอย่างนั้น ยกตัวอย่าง กล่องกระดาษทิชชู่ถ้ามันอยู่ไกลๆ สีมันเหลืองอร่ามโยมคิดว่าอาจารย์ยกแผ่นทองคำแต่พอโยมเข้ามาใกล้ๆ เห็นว่ามันเป็นกล่องกระดาษทิชชู่ ความรู้สึกเดิมที่ว่าเป็นทองคำหมดไปมั๊ย ที่หมดไปอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเห็นจริงไง เพราะฉะนั้นเน้นว่าเข้าไปเห็นจริงแล้วความรู้สึกเดิมๆ ว่าเป็นเราเป็นเขาเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นหญิงเป็นชายนี่ถูกทำลายไปมั๊ย เพราะอะไรจึงถูกทำลายไปเพราะเห็นตามความเป็นจริงไง เพราะฉะนั้นเห็นรูปธรรมนั้นตามความเป็นจริงความเป็นหญิงเป็นชายก็ถูกทำลายไป เห็นนามธรรมนั้นตามความเป็นจริงความเป็นหญิงเป็นชายนั้นก็ถูกทำลายไปเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็ถูกทำลายไปเหมือนกัน แม้แต่สภาพที่ปวดถ้าเห็นจริงๆ อาจารย์ประจากบอกว่ายังไง ปวดมันเป็นใคร ปวดมันเป็นของใคร แล้วไปไล่ปวดเราไปไล่ใคร การที่พูดอย่างนั้นมุ่งหมายเอาอะไร…สมมติบัญญัติ หมายถึงว่าโดยทั่วไปเรายึดผิดอย่างนั้นว่าปวดมันเป็นของเรา เราปวด แม้แต่ฟุ้งมันก็เป็นของเรา ดูที่สิ่งไม่ดีถุยน้ำลายไปน้ำลายใคร น้ำลายเค้าไม่เคยบอกว่าเป็นของเรานะแต่เราไปทึกทักเอาเองว่าเป็นของเรา แม้ว่าถ่ายอุจจาระปัสสาวะเป็นของใคร อุจจาระใคร…ของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเราเข้าไปยึดเอง การที่มาเจริญวิปัสสนาให้รู้ความจริงเพื่อทำลายความเป็นเราเป็นเขา เป็นสัตว์เป็นบุคคลถูกทำลายไป ถ้าเห็นปวดตามความเป็นจริงแล้วความยึดว่าปวดมันเป็นเราเกิดขึ้นได้มั๊ย เกิดไม่ได้เพราะจริงๆ มันเป็นอย่างนั้น มันไม่มีเราอยู่ตรงนั้น มันไม่มีเราอยู่ในปวดแต่เราไปยึดว่าปวดมันเป็นของเรา แม้แต่ความง่วงใครที่ความง่วงเกิดขึ้นแล้วรู้สึกพอใจในสภาพง่วงมั๊ย ถ้าเราไม่รู้สภาพตามความเป็นจริงเราก็ไม่พอใจสภาพง่วงอีก เวลาที่ฟุ้งมากๆ ใครพอใจบ้าง ไม่พอใจเพราะอะไร เพราะเราไปยึดว่ามันเป็นเราไง แต่ถ้าเห็นตามความเป็นจริงแล้วสภาพตรงนั้นก็เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปตามเหตุตามปัจจัยของเขา
เหมือนกับมีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง เทวดามาทูลถามพระพุทธเจ้า เทวดาลงมาช่วงดึกๆ ลงมาแล้วประทับยืนด้วย เคยเห็นมั๊ยเทวดาในฝาผนังวัดพระแก้ว เทวดาที่เกิดขึ้นเกิดจากจิตของบุคคล จิตของบุคคลแต่ละยุคแต่ละสมัยเหมือนกันมั๊ย ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นขนมธรรมเนียมประเพณีขณะนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ปรุงแต่งภาพต่างๆ ออกมาจากตรงไหน ออกมาจากจิตของบุคคล เพราะฉะนั้นจะดูคนในยุคสุโขทัย ไปดูที่ตรงไหนโยม ดูที่ศิลปะ อยุธยา จะรู้ว่าคนสมัยอยุธยามีจิตเป็นอย่างไร ดูที่ศิลปะ เพราะว่าออกมาจากจิตคน คนยุคนั้น ๆ เป็นอย่างนั้น ๆ สมัยนี้ก็เหมือนกัน คนที่เขียนภาพสมัยนี้ก็แสดงว่าคนในยุคนี้จิตใจเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเทวดาที่ลงมา จะลงมาช่วงดึก ๆ เพราะว่าเหม็นสาบมนุษย์ ใครว่ามนุษย์หอมยกมือขึ้น รับรองเลยว่ามนุษย์เหม็น เหม็นจริง ๆ ตรงไหนที่หอมมีไหม ผมหอมหรือไม่หอม อาจจะฉีดสเปรย์ก็หอมกลิ่นสเปรย์ หรือน้ำหอม ตามเนื้อตัวก็หอมด้วยอำนาจของอะไร แต่จริง ๆ ก็เหม็น เพราะฉะนั้นเทวดาเขาเคยชินกับกลิ่นทีเป็นทิพย์ พอได้กลิ่นของมนุษย์รับไม่ได้ ต้องแอบมาช่วงดึก ๆ ให้ตัวเหม็น ๆ ทั้งหลายไปเสียก่อน เพราะว่าดึก ๆ มนุษย์ส่วนใหญ่จะนอน แต่มีมนุษย์บางจำพวกไปเย้ว ๆ ๆ อยู่ บางพวกไม่ยอมหลับยอมนอน แต่ว่าเทวดาที่ลงมาก็ต้องมีเหตุ คือถามปัญหาพระพุทธเจ้า เมื่อมีเหตุ มีปัญหาที่ตัดสินไม่ได้ คนที่ตัดสินได้คือพระพุทธเจ้า ก็มาถามปัญหา ถามว่าอย่างไร ว่า การทำให้สิ่งใดอุบัติเกิดขึ้น ประเสริฐที่สุด การทำให้อะไรตกลงไปประเสริฐที่สุด ในบรรดาสัตว์ที่ไปด้วยเท้าทั้งหลาย ใครประเสริฐที่สุด คำกล่าวของใครประเสริฐที่สุด โยมจำได้ไหม การทำให้สิ่งใดอุบัติเกิดขึ้น ประเสริฐที่สุด การทำให้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นประเสริฐที่สุด จริงหรือเปล่า การทำให้อะไรตกลงไปประเสริฐที่สุด โยมตอบได้ไหม ไม่ได้ อวิชชา ในบรรดาสัตว์ที่ไปด้วยเท้าทั้งหลาย ใครประเสริฐที่สุด คำกล่าวของใครประเสริฐที่สุด ทั้งหมดพระพุทธเจ้าหมด ท่านบอกไว้ว่าอย่างนี้นะ คำถามก่อนที่จะมาถามพระพุทธเจ้า เทวดาเขาถกกันก่อน ว่าการทำให้อะไรอุบัติเกิดขึ้นประเสริฐที่สุด เทวดาองค์หนึ่งก็ตอบว่า การทำให้ธัญพืชที่หว่านลงไป เกิดขึ้นมานั้นประเสริฐ เพราะทำให้สัตว์ทั้งหลายได้ใช้สอยธัญพืชเหล่านั้น อาจจะบริโภค เช่น ปลูกข้าว ถั่ว อะไรเป็นต้น อันนั้นเทวดาเขาตอบนะ
การทำให้อะไรตกลงไปประเสริฐที่สุด การทำให้ฝนตกนั้นประเสริฐ เพราะทำให้ธัญพืชที่อุบัติเกิดขึ้นนั้นงอกงามสามารถผลิดอกออกผลให้เราบริโภคได้
ในบรรดาสัตว์ที่ไปด้วยเท้าทั้งหลาย ใครประเสริฐที่สุด โคประเสริฐที่สุด เพราะโคให้ทั้งนม เนื้อ ทำการไถหว่าน กสิกรรม สมัยก่อน บ้านเรา สมัยอาจารย์เป็นเด็ก ๆ ก็ใช้โคอยู่ ปัจจุบันที่พม่าก็ใช้อยู่ แต่บ้านเราไม่ใช้แล้ว คำกล่าวของใครประเสริฐที่สุด ใครไม่มีลูกก็คงจะยังไม่รู้หรอกนะ แต่เขาบอกว่าคำกล่าวของบุตรที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วก็เรียกชื่อว่าพ่อ แม่ เป็นคำแรก เป็นคำที่ประเสริฐที่สุด เพราะทำให้พ่อแม่ชื่นใจ จริงไหมคนที่มีลูก รู้สึกว่าปลื้มใจ ลูกพูดว่าแม่ พ่อ อาจจะยังไม่ชัด แต่พูดออกมาแล้วประทับใจ ชื่นใจ เพราะฉะนั้นคำกล่าวนั้นเป็นคำกล่าวที่ประเสริฐที่สุด เทวดาได้กล่าวอย่างนั้น
แต่คำกล่าวเหล่านั้นยังตัดสินไม่ได้นะ นอกจากพระพุทธเจ้าที่จะกล่าวว่า คำกล่าวเหล่านั้นถูกหรือผิด ใครว่าเทวดาเมื่อสักครู่กล่าวถูกต้อง ยกมือขึ้น ใครว่าเทวดาเมื่อสักครู่กล่าวผิด พระพุทธเจ้าจะแก้ ยกมือขึ้น ใครไม่รู้ ยกมือขึ้น ยังมีคนไม่รู้ เหมือนกันนะ พระพุทธเจ้ากล่าวแก้ ถ้าพระพุทธเจ้ากล่าวสาธุ ก็เป็นพระพุทธภาษิตไป ไม่ได้เป็นแค่เทวดาภาษิต เมื่อสักครู่ยังเป็นแค่เทวดาภาษิตอยู่ พระพุทธเจ้ากล่าวแก้ว่าอย่างไร
เขาถามว่า พระพุทธเจ้ากล่าวแก้ว่า เขากล่าวว่า ถามว่า พระพุทธเจ้าตอบว่า พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถามว่า พระพุทธเจ้ากล่าวแก้ว่า โยมเข้าใจไหม กล่าวอย่างนี้เข้าใจไหม ไม่เข้าใจ ท่านบอกว่าการทำให้อะไรเกิดขึ้นประเสริฐที่สุด - การทำให้วิชชาเกิดขึ้นประเสริฐที่สุด การทำให้อะไรตกลงไปประเสริฐที่สุด - การทำให้อวิชชาตกลงไปประเสริฐที่สุด ในบรรดาสัตว์ที่ไปด้วยเท้า ใครประเสริฐที่สุด – หมู่แห่งอริยสงฆ์เจ้าประเสริฐที่สุด คำกล่าวของใครประเสริฐที่สุด – คำกล่าวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด ทีนี้การเจริญวิปัสสนาที่โยมมาเดินขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือว่าพองหนอ-ยุบหนอ หรือว่าคู้ เหยียด ก้ม เงย หยิบ จับ อะไรต่าง ๆ โยมชื่อว่าทำให้อะไรอุบัติขึ้น ทำให้วิชชาอุบัติขึ้น เกิดขึ้นตอนไหน - ตอนใส่ใจกำหนดรู้รูปธรรมนามธรรมอย่างไร ไม่ใช่ว่าตอนกำหนดปวดหนอ ปวดหนอ วิชชาไม่อุบัติเกิดขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้นนะ พอไปกำหนดพองหนอ-ยุบหนอ วิชชาจึงอุบัติเกิดขึ้น หรือขณะที่กำหนดสิ่งที่ดี ๆ เท่านั้น คู้ เหยียด ก้ม เงย หยิบจับ วิชชาจึงอุบัติเกิดขึ้น แม้แต่โยมกำหนดว่าฟุ้งหนอ เบื่อหนอ หงุดหงิดหนอ วิชชาก็อุบัติเกิดขึ้น วิชชาเกิดขึ้นแล้ว อะไรตกลงไป อวิชชาก็ตกลงไป ทุกขณะ เพราะว่าวิชชาเป็นชื่อของอะไร เป็นชื่อของปัญญา อวิชชาเป็นชื่อของอะไร โมหะ ระหว่างโมหะกับปัญญานี้ เกิดร่วมกันได้ไหม มืดกับสว่างเกิดร่วมกันได้ไหม แสงสว่างเกิดขึ้นทำลายอะไร ทำลายความมืด ความมืดเกิดขึ้น ทำลายอะไร ทำลายแสงสว่าง อวิชชากำเนิดขึ้น ครอบงำปัญญา ปัญญาอุบัติเกิดขึ้นก็ทำลายอวิชชา หรือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นขณะที่กำหนดตลอด แต่ละหนอ แต่ละหนอ โยคีทั้งหลายชื่อว่าได้ยังสิ่งประเสริฐทั้งหลายให้อุบัติเกิดขึ้นไหม อุบัติเกิดขึ้นทุกขณะนะ ใครที่ใส่ใจกำหนดให้ติดต่อต่อเนื่องมากเท่าไหร่ ก็ได้ชื่อว่ายังวิชชาให้เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าใครกำหนดน้อย ไม่ค่อยใส่ใจ เวลาที่ทำก็ไม่ค่อยต่อเนื่อง เวลาครูบาอาจารย์ไม่รู้ก็ยังแอบซุบซิบคุยกัน มีไหมล่ะ ขณะที่คุยกัน อะไรเกิดขึ้น วิชชา หรืออวิชชา เพราะฉะนั้น ทำไมอาจารย์ถึงห้ามคุยกัน เพราะอะไร ที่ห้ามอย่างนี้นี่ประโยชน์อาจารย์ หรือว่าประโยชน์โยคี ของโยคีเองนะ การที่เรามาเจริญวิปัสสนากันนี่ โยมทั้งหลายเสียเวลากันมาเจริญวิปัสสนากัน การงานต่าง ๆ ที่อยู่ทางบ้านทำได้ไหม ไม่มีโอกาสทำได้ มาที่นี่ยังมาเสียโอกาส เสียเวลากันอีก ใครเสีย บางครั้ง ครูบาอาจารย์ถาม หรือพยายามจี้ถามในจุดตรงที่บกพร่องอยู่ โยคีก็อาจจะไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เอ อาจารย์องค์นี้ทำไมจู้จี้เหลือเกิน บางท่านมิหนำซ้ำ เวลาสอบอารมณ์ กลับครูบาอาจารย์อีก วันนี้จะไปสอบอารมณ์กับอาจารย์องค์ที่ถามมาก ๆ จี้มาก ๆ เครียดอีก บางคนจดบันทึกอีกนะ กลัวจะส่งอารมณ์ไม่ได้อย่างนั้น อย่างนี้แทนที่จะเจริญกุศล กุศลธรรมจะเกิดขึ้น เจริญขึ้น พัฒนาขึ้น อะไรเกิดขึ้นอีกแล้ว อกุศลก็เกิดอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเรามาตรงนี้ เพื่อป้องกันอกุศลไม่ให้เกิดนะ กุศลที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้เกิดมากที่สุด อกุศลที่ยังไม่เกิดก็ไม่ให้เกิด กุศลที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้เจริญขึ้น ถ้าเรากังวลตรงนั้น หรือวิตกอย่างนั้น ทำอย่างไร กำหนดเลย กังวลหนอ กังวลหนอ หรือว่าวิตกหนอ วิตกหนอ จนความรู้สึกนั้นดับไป เพราะฉะนั้นเวลาที่กำหนด เราทำสิ่งที่ประเสริฐให้เกิดขึ้นกี่อย่างแล้ว สอง อย่าง คำถามที่ว่า ทำไมในบรรดาสัตว์ที่ไปด้วยเท้าทั้งหลาย หมู่อริยสงฆ์เจ้าประเสริฐ เพราะอะไร เพราะการได้เห็นหมู่พระอริยสงฆ์เป็นสิ่งที่ประเสริฐไหม อนุตตริยะ ธรรมของพระสงฆ์ล่ะ เป็นสวนานุตริยะ ได้ฟังสิ่งที่ประเสริฐ คำกล่าวของใครประเสริฐ คำกล่าวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าคำกล่าวของพระองค์ยังสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์จากวัฏฏสงสารได้ คำกล่าวโดยทั่วไป อาจเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เราถึงทุกข์ก็ได้ แต่คำกล่าวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พ้นจากทุกข์ก็ได้ คำกล่าวของพระพุทธเจ้าจริง ๆ มีอยู่กี่อย่าง คำพูดมีกี่อย่าง โยมจำได้ไหม คำพูดในโลกนี้มีกี่อย่าง หกอย่าง จำไว้นะ
คำจริง มีประโยชน์ ผู้ฟังฟังแล้วชอบใจ
คำจริง มีประโยชน์ ผู้ฟังฟังแล้วอาจจะไม่ชอบใจ
จริง ไม่มีประโยชน์ ผู้ฟังฟังแล้วชอบใจ
ไม่จริง ไม่มีประโยชน์ ผู้ฟังฟังแล้วชอบใจ
ไม่จริง มีประโยชน์ ผู้ฟังฟังแล้วไม่ชอบใจ
ไม่จริง ไม่มีประโยชน์ ผู้ฟังฟังแล้วไม่ชอบใจ
รวมเป็นเท่าไหร่ โยม
อันที่หนึ่งก็คือ จริงด้วย มีประโยชน์ด้วย ผู้ฟังฟังแล้วชอบใจ
แล้วก็ จริง ฝ่ายจริงก็มีสาม ฝ่ายไม่จริงก็มีสาม รวมแล้วก็เป็นเท่าไหร่ เป็นหก พระพุทธเจ้านี่ใช้คำไหนมากที่สุด จริงด้วย มีประโยชน์ด้วย ผู้ฟังฟังแล้วชอบใจ พระพุทธเจ้าใช้มากที่สุด จริงด้วย มีประโยชน์ด้วย ผู้ฟังฟังแล้วอาจจะไม่ชอบใจ เลือกใช้เป็นบางกรณี เพราะฉะนั้นเน้นที่ตรงไหน เน้นที่ประโยชน์ สองอย่าง จริงด้วย มีประโยชน์ด้วย ผู้ฟังฟังแล้วชอบใจ และจริง มีประโยชน์ ผู้ฟังฟังแล้วอาจจะไม่ชอบใจ เพราะฉะนั้นอาจจะไม่คำนึงถึงว่าชอบใจ ไม่ชอบใจ หากเป็นประโยชน์แล้ว พระพุทธเจ้าตรัส เช่นกล่าวกับใครที่ จริง มีประโยชน์ ผู้ฟังฟังแล้วไม่ชอบใจ นางมาคันทิยา พระพุทธเจ้ากล่าวไว้อย่างไร แต่ก่อนที่กล่าวเช่นนั้น พระพุทธเจ้าเล็งเห็นไว้ก่อนว่าจะเป็นประโยชน์กับพ่อของนางมาคันทิยาเป็นพราหมณ์ชื่อมาคันทิยะ แม่เป็นพราหมณ์ชื่อว่ามาคันทิยาเหมือนกัน ก่อนที่จะกล่าวตรงนั้น พระองค์มุ่งที่ผลเสียก่อนว่าจะเป็นประโยชน์ไหม ถ้าไม่เป็นประโยชน์พระพุทธเจ้าท่านจะไม่กล่าว เห็นไหม บางคนบอกว่าสัตว์ตายแล้วไปไหน ชาตินี้และชาติหน้ามีไหม พระองค์ไม่ตอบ เพราะอะไร เพราะคำนึงถึงว่าตอบไปแล้วไม่มีประโยชน์ก็จะนิ่งเสีย แต่บางครั้งตอบนะ ถ้าคิดว่ามีประโยชน์ ดูแล้ว พิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ มีประโยชน์เกื้อกูลกับบุคคลนั้นก็ตอบ เพราะฉะนั้นเรามาเจริญวิปัสสนา บางครั้ง อาจารย์
ให้สัตว์ทั้งหลายเข้าถึงความบริสุทธิ์
โศกะ ปริเทวานํ โศก กับปริเทวนาการนี่ไม่เหมือนกันนะ
ทุกขะ โทมนัสสานํ ทุกข์กับโทมนัสก็ไม่เหมือนกัน เขาแยกมาเลย ทุกข์ก็คือหมายถึงทุกข์กาย โทมนัสก็คือทุกข์ใจ
ญายสฺสะ สามารถเข้าถึงญาณ สภาวะญาณตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณ ไปจนถึงมรรคญาณ ผลญาณ
นิพพานสฺสะ สจฺฉิกริยายะ สามารถทำนิพพานให้แจ้ง
รวมเป็นเท่าไหร่ เจ็ดประการด้วยกัน คืออานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนา ขณะที่ สตฺตานํ วิสุทธิยา ก็หมายถึงกิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้น เพราะอะไร เพราะเราไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง กำหนดพองหนอ ยุบหนอ จิตของเราเข้าถึงความบริสุทธิ์ไหม ขณิกสมาธิไง และตทังคปหาน สามารถหยุดกิเลสได้ชั่วขณะ แต่ละหนอ แต่ละหนอสามารถเป็นเหตุให้มรรคญาณ ผลญาณเกิดขึ้น ตั้งแต่ญาณต้น ๆ ที่เรากำหนด โลกียะทั้งหลาย กิเลสต่าง ๆ ไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าเรากำหนดแต่ละหนอ ๆ ถ้าเราวางใจเป็นนะ เข้าถึงความบริสุทธิ์
ความโศก ความปริเทวนาการ มาจากไหน การเกิดมาจากอะไร อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิด การกำหนดแต่ละครั้งทำลายอวิชชา เป็นปัจจัยให้อะไร ไม่ต้องเกิด เมื่อไม่ต้องเกิด ความโศก ความปริเทวนาการมีไหม ก็ไม่มี เป็นปัจจัยให้พ้นจากความโศก ความปริเทวนาการ ความทุกข์และโทมนัสก็เหมือนกัน มาจากการเกิดทั้งนั้น ญายสฺสะ นามรูปปริเฉทญาณ เป็นต้น จนถึงมรรคญาณ ผลญาณ นิพพานสฺสะ หมายความว่าอย่างไร สภาพที่ดับ กิเลสทั้งหลาย รูปนามขันธ์ห้าที่เราได้มานี่ อาศัยอะไรเป็นปัจจัย อาศัยกิเลสทั้งหลาย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน สามารถเป็นเหตุปัจจัยให้รูปนามขันธ์ห้าเกิดขึ้น นิพพานก็คือดับสมุทัย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่เกิดแล้ว รูปนามขันธ์ห้าก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ปัจจัยที่จะทำให้เกิดรูปนามขันธ์ห้า และก็ตัวรูปนามขันธ์ห้าเองก็ดับไป สู่สภาพนิพพาน คือดับทั้งกิเลสและรูปนามขันธ์ห้า การเจริญวิปัสสนาก็ให้โยมเข้าใจว่า มากำหนดเพื่อรู้ พอรู้แล้วก็จะสามารถละได้ และเป็นปัจจัยให้สามารถเข้าสู่ความพ้นทุกข์ คือพระนิพพาน ขึ้นอยู่กับว่าเราวางใจดูเขาเป็นแค่ไหน สมมติว่ามีแผ่นดินอยู่แปลงหนึ่ง ทิ้งไว้อย่างนั้น ปล่อยรกร้างว่างเปล่า เป็นที่อาศัยเกิดของอะไร วัชพืชทั้งหลาย วัชพืชทั้งหลายนี่มีประโยชน์ไหม ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเราปรับผืนแผ่นดินตรงนั้น สร้างเป็นธุรกิจขึ้นมา มีประโยชน์ได้ วัชพืชก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาเหมือนกัน ร่างกาย หรือจิตใจของเรา ถ้าปล่อยไว้เฉย ๆ ก็เป็นที่เกิดของกิเลส กิเลสไม่ต้องพยายามสร้าง เขาเกิดของเขาเอง เหมือนกับวัชพืช แต่ถ้าเราเอากายก็ดี เวทนา จิต ธรรม หรือกายกับจิต มาเจริญวิปัสสนา หรือว่ามาให้ทาน นั่นก็เหมือนกับธุรกิจขนาดย่อม ๆ มารักษาศีล ธุรกิจขนาดกลาง ๆ มาเจริญวิปัสสนา เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถทำได้ไหม ได้ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเอาเขาไปในทางไหน ถ้าปล่อยไว้เฉย ๆ ก็เป็นที่เกิดของอะไร อวิชชา ตัณหา อุปาทาน วัชพืชทั้งหลาย แต่เราเอาการคู้ การเหยียด การหยิบ การจับ การก้ม การเงย มาประกอบธุรกิจ ผลกำไรที่ได้จากตรงนั้น สติเกิดขึ้นไหมล่ะ สมาธิเกิดไหม วิริยะ ศรัทธา ปัญญาเกิดไหม เกิดขึ้นจากธุรกิจนั่นล่ะ ที่เรากระทำขึ้นมา หมายความว่า เราใส่ใจรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ก็เหมือนเราประกอบธุรกิจตรงนั้น สร้างประโยชน์ตรงนั้นให้เกิดขึ้นมา กายกับจิตตรงนี้ก็มีประโยชน์ขึ้นมา ที่เขาบอกว่าอะไร จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะนำสุขมาให้ ต้องฝึกดีแล้ว ไม่ใช่ขณะกำลังฝึก เอ การประพฤติปฏิบัติไม่เห็นเจอสุขเสียที ขณะที่กำลังฝึก จะเจอได้อย่างไร ต้องฝึกดีแล้วจึงจะนำความสุขมาให้ ก็ขอฝากญาติโยมทั้งหลายไว้ เวลาประพฤติปฏิบัติก็ขอให้ตั้งใจเต็มที่ ให้สมกับที่เราได้ตั้งใจมาแล้ว ตั้งใจเต็มที่ สิ่งใดที่ครูบาอาจารย์ติหรือติง ก็อย่าไม่พอใจตรงนั้น แต่เอาตรงนั้นมาพิจารณาให้เป็นอุทธาหรณ์ว่าเราพร่องตรงนี้ เราควรจะปรับปรุง แก้ไขตรงนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเรามากที่สุด ก็ขออำนาจบุญกุศล ที่ญาติโยมทั้งหลายได้สะสมอบรมมาในอดีตชาติก็ดี ในปัจจุบันชาติก็ดี จงมารวมกันเป็นตบะเดชะ เป็นพลวปัจจัย เป็นนิสัยตามส่งให้ญาติโยมทั้งหลายได้เกิดวิริยะ อุตสาหะ ในการประกอบกุศลให้เกิดยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนสามารถยังให้เกิดอริยมรรค อริยผล ให้เกิดกับท่าน ด้วยกันทุกท่าน ทุกคน ทุกตน เทอญ ขอเจริญพร
คุณรัตชลัน จันทร์เลิศฟ้า ถอดเทปคำบรรยาย