เจริญพร อาตมาขอให้การบ้านแก่นักเรียนทุกคน ได้ไปทบทวนทำการบ้าน ดังที่ได้แนะนำและให้อุบายในการเจริญสมาธิภาวนาด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอันเป็นกำลังแก่การพัฒนาสติ ดังต่อไปนี้...
๑.เริ่มต้นด้วยการนั่งในท่านั่งที่ผ่อนคลาย สบายๆ ทำความรู้สึก เหมือนว่าเรากำลังนั่งเล่นหรือนั่งพักผ่อนรับลมโชยเย็นๆ อยู่ชายทะเล พร้อมกับนั่งมองดูวิวทิวทัศน์ท้องทะเล ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ตื่นรู้ สดชื่น เบิกบาน (เพื่อปลุกตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ให้ตื่นขึ้น) ต่อไปให้ย้อนความรู้สึกเข้าไปสำรวจร่างกาย รู้สึกถึงร่างกายทุกส่วนให้มีการผ่อนคลายอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีส่วนใดเกร็ง ไล่ไปตั้งแต่ศีรษะ ใบหน้า ถ้าตึงเกร็งก็ให้ผ่อนคลาย ไหล่ แขน ลำตัว ถ้าตึงเกร็ง ก็ให้ผ่อนคลาย ก้น ขา จนจรดปลายเท้าให้รู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ ส่วนใดตึงเกร็ง ก็ให้ผ่อนคลาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน และรู้สึกถึงร่างกายทั้งหมดเป็นองค์รวมแบบคร่าวๆ รู้สึกถึงรูปกายที่นั่งอยู่ หรืออาจรู้สึกจนเหมือนเห็นรูปกายที่กำลังนั่งอยู่ และผ่อนคลายไปเรื่อยๆ จะรู้สึกถึงความสงบระงับของร่างกาย เมื่อกายระงับ จิตก็จะระงับ สงบเอง เป็นไปอย่างธรรมชาติ
๒. เมื่อผ่อนคลายร่างกายไปสักระยะ จะรู้สึกถึงลมหายใจเบาๆ ระเรื่อ ผ่านเข้า ผ่านออก สบายๆ และรู้สึกได้โดยไม่ต้องกำหนด
๓.ให้รู้สึกถึงลมหายใจอย่างแผ่วเบา ละเอียด ประณีต ผ่านเข้า ผ่านออก เบา ละเอียด นุ่มนวล ประณีต ...เบา ละเอียด นุ่มนวล และประณีตมากขึ้น มากขึ้น มาก...และ รู้สึกลมหายใจที่เบา ละเอียด ประณีตนี้ได้โดยไม่ต้องเพ่งหรือกำหนดแต่อย่างใด คือรู้สึกเองแบบสบายๆ อย่างเป็นธรรมชาติ
๔. เมื่อรู้สึกถึงลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก อย่างแผ่วเบานี้ได้โดยไม่ต้องกำหนด ก็ให้หลับตาเบาๆ เพียงแค่ผนังตาปิดเบาๆ แล้วประคองให้ตัว รู้สึกหรือสำนึกรู้ลอยอยู่ช่วงบนประมาณเหนือไหล่ขึ้นไป ระวังอย่าให้ตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้นี้ไหลลงต่ำตกสู่ภวังค์ คือ เสมือนหนึ่งตาภายนอกหลับ แต่ความรู้สึกภายในยังตื่นอยู่เหมือนยังลืมตาอยู่ (หลับตานอก แต่ความรู้สึกภายในยังคงตื่นรู้ สดชื่นเบิกบาน เสมือนหนึ่งความรู้สึกตื่นรู้ สดชื่น เบิกบาน ขณะรับลมโชยทะเลเย็นสบายและมองดูวิวทิวทัศน์ของทะเลอย่างเบิกบาน สดชื่น เบาสบาย)
๕.ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วสรรพางค์กายด้วยอาการตื่นรู้ ด้วยสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกที่เรากำลังประคองอยู่ช่วงบนเหนือไหล่ขึ้นไป อาจจะอยู่บริเวณใบหน้า หรือบริเวณศีรษะ หรือรอบๆ ศีรษะ และประคองความรู้สึกนี้ไปเรื่อยๆ คือมีสติเฉพาะหน้า ด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจริงๆ โดยให้สมาธิ สติ และสัมปชัญญะขนานกันไป อย่างต่อเนื่อง ระวังไม่ให้เผลอสติ เพราะถ้าเผลอสตินิดเดียว สำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้จะไหลลงต่ำตกสู่ภวังค์ได้ในที่สุด
๖. ให้ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม พร้อมกับรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกแผ่วเบา ทุกระยะ จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วถึงที่เป็นไปในภายใน คือ รู้สึกถึงอาการของใจ อาจจะเป็นปีติ อิ่มเอิบ หรือรู้สึกถึงไออุ่น ไอเย็นที่แผ่ซ่านอยู่ภายใน หรือรู้สึกถึงแรงดึงอันเนื่องจากความผูกพัน ด้วยตัณหาอุปาทาน และอาจจะรู้สึกถึงอาการคลายออกของแรงดึงดังกล่าว และค่อยๆ รู้สึกถึงความจางคลาย ความคลายออก โล่งโปร่งเบาสบาย ด้วยการละวางอาการทางใจไปทีละน้อยๆ
๗.เมื่อรู้สึกถึงอาการทางใจที่เป็นไปในภายในอย่างทั่วถึงและชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น จะเกิดการปล่อยวาง และละวางความรู้สึกของร่างกายหรือความรู้สึกทั่วสรรพางค์กายอันเป็นไปภายนอกเองโดยอัตโนมัติ เหลือแต่ความรู้สึกถึงอาการทางใจที่เป็นไปในภายในล้วนๆ ขณะเดียวกัน ให้รู้สึกถึงอาการของลมหายใจที่ละเอียดแผ่วเบาๆ ไปตามลำดับพร้อมกันไปด้วย อันจะช่วยให้อาการทางใจค่อยๆ คลายออก จางคลายไป จนเกิดสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกล้วนๆ ลอยอยู่ช่วงบนเหนือไหล่ขึ้นไปหรืออยู่เหนือกายนี้
๘.เมื่อรู้สึกถึงตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่ค่อยๆ รวมตัวกันและลอยอยู่เหนือไหล่ อยู่เฉพาะหน้า ชัดขึ้น ชัดขึ้นๆ ให้ค่อยๆ ปล่อยวางอาการทางใจที่เป็นความรู้สึกอยู่ภายใน ค่อยๆ ปล่อยวางไปทีละน้อยๆ ไปตามลำดับ จะรู้สึกถึงสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้ชัดขึ้นๆ เหมือนกับลอยอยู่โดยไม่มีกาย ไม่มีศีรษะ ไม่มีใบหน้า เสมือนหนึ่งใจผู้รู้ล้วนๆ ลอยอยู่เหนือร่างกาย เหนือขันธ์ ๕ และให้รู้สึกถึงลมหายใจที่แผ่วเบาละเอียดมากขึ้น มากขึ้น ๆ โดยรู้สึกอยู่ในสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้ จนสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้จะค่อยๆ ชัดขึ้น ชัดขึ้น ๆ ผ่องใสขึ้น แจ่มใสขึ้น และพัฒนาไปเป็นใจผู้รู้ที่เป็นใจผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นอิสระ ลอยอยู่เหนือร่างกายหรือเหนือขันธ์ ๕ จนเสมือนหนึ่งไม่มีกาย (กายหาย เหลือแต่จิตล้วนๆ ที่ค่อยๆ ผ่องใส แจ่มใส และค่อยๆ ฉายแสงจิตออกมาตามลำดับ)
๙.มีสติระลึกรู้อยู่ในสำนึกรู้หรือตัวรู้สึกนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับค่อยๆ ปล่อยวางร่างกาย ละวางตัวตน เช่น ให้รู้สึกในใจว่าตัวเราไม่ใช่ของเรา และ ไม่เสียดายชีวิต แม้ว่าจะตกอยู่ท่ามกลางสิงสาราสัตว์ที่ดุร้าย คอยจ้องเอาชีวิตอยู่เบื้องหน้า ตายเป็นตาย ทิ้งกายเนื้อ เหลือแต่จิตหรือใจผู้รู้ล้วนๆ จนจิตเป็นอิสระ เหลือแต่จิตหรือใจผู้รู้ล้วนๆ เป็นอิสระจากร่างกายไปโดยลำดับ ต่อจากนั้นให้สลับด้วยการแผ่เมตตา เพื่อเป็นการลดละความมีตัวตน อันเป็นกำลังแก่สติ เพื่อให้สามารถคงสภาวะการรับรู้อย่างเป็นกลางๆ หรืออุเบกขา ไม่ให้จิตไหลไปกับสิ่งที่ถูกรู้ และตระหนักได้ว่า ใจผู้รู้ก็ส่วนหนึ่ง สิ่งที่ถูกรู้ก็ส่วนหนึ่ง ลมหายใจละเอียดก็ส่วนหนึ่ง กายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง เห็นสภาวะแยกรูปแยกนามในลักษณะที่ซ้อนๆ กันอยู่ และให้ใจผู้รู้นี้ไป พิจารณากายให้เห็นเป็นอสุภะ เน่าเปื่อยผุพัง เป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟไปตามลำดับ เห็นสภาวธรรมทุกอย่างไปตามความเป็นจริง เห็นไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตน จนเกิดความคลายออก ความจางคลายของความผูกพัน เยื่อใย อาลัย อาวรณ์ อันเกิดจาก แรงตัณหาอุปาทาน จนเกิดใจผู้รู้ที่อยู่เหนือขันธ์ ๕ อยู่เหนือสมมติบัญญัติทั้งหลาย
๑๐.ก่อนออกจากสมาธิ ให้ค่อยๆ ถอยสมาธิออกมาจากจิตมาสู่ความรู้สึก และถอยออกจากความรู้สึกมาสู่กายด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมตามลำดับ และจดจำสภาวะ อาการ ความสงบ ความรู้สึก และความเป็นไปของใจในขณะที่เจริญภาวนาดังกล่าว เพื่อว่าครั้งต่อไปที่เราเจริญภาวนา จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง ผู้ปฏิบัติจะได้น้อมใจเข้าสู่ความสงบได้ภายในเพียงชั่วไม่กี่นาที หรือไม่กี่วินาที จนถึงเพียงชั่วลัดนิ้วมือ
๑๑.ต่อไปค่อยๆ เรียกความรู้สึกตามเนื้อตามตัวทุกส่วนทั่วสรรพางค์กายคืนมาปกติ วางมือไว้บนหัวเข่าทั้งสองโดยหงายฝ่ามือออก แล้วแผ่เมตตา
๑๒.จากนั้น ค่อยๆ ลืมตา เบาๆ และออกจากสมาธิได้ ขอให้นักเรียนทุกคน หมั่นทบทวน ก่อนจะเข้าชั้นเรียนครั้งต่อไปนะ ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
วิโมกข์
เจริญพร
การเดินทางเข้าสู่ใจผู้รู้นั้น ต้องอาศัยลมหายใจหรือลมปราณซึ่งเป็นส่วนของรูป (กายใน) อันเป็นสภาวะธรรมที่ละเอียดที่สุดของฝ่ายรูป ก่อนที่จะเข้าสู่ใจผู้รู้อ้นเป็นอรูป และสิ่งที่ละเอียดรองมาจากลมหายใจ ก็คือความรู้สึกทางใจอันปรุงแต่งด้วยกิเลสเกิดเป็นแรงหน่วงเหนี่ยว ผูกพัน เหนียวแน่นบ้าง คลายออกบ้างและค่อยๆ จางคลายไปโดยลำดับ และสิ่งที่ละเอียดรองลงมาจากความรู้สึกทางใจ (คือหยาบกว่าความรู้สึกทางใจ) ก็คือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วสรรพางค์กาย เบื้องต้นของการเดินทางเข้าสู่ใจผู้รู้ สติยังอ่อนและกำลังไม่พอ จึงต้องมีฐานที่อาศัยให้แก่สติ เริ่มจากฐานที่หยาบ ไปสู่ฐานที่ละเอียด และละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ ดังนั้น จึงเริ่มต้นจากอาศัยความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วสรรพางค์กายเป็นฐานของการเจริญสติ จนเมื่อสติอยู่กับกายสักระยะหนึ่ง สติจะมีกำลังมากขึ้น สติก็สามารถค่อยๆ ระลึกรู้ถึงความรู้สึกภายในอันเป็นอาการของใจที่ถูกปรุงแต่งด้วยกิเลสและเมื่อสติมีที่เกาะอันเป็นฐานใหม่คือความรู้สึกทางใจ จนรู้ชัดในความรู้สึกทางใจอันเป็นสภาวะ ธรรมที่ละเอียดกว่าความรู้สึกทั่วสรรพางค์กาย พอสติมีเครื่องรู้เครื่องอาศัยอันเป็นฐานที่ตั้งของสติที่ละเอียดกว่า สติก็จะค่อยๆ วางความรู้สึกทางกายอันเป็นฐานที่หยาบ กว่าไปเองโดยอัตโนมัติ อนึ่ง ลมหายใจ ก็เป็นส่วนของรูป (คือเป็นกายใน) แต่สภาวะธรรมของลมหายใจ มีทั้งหยาบ ละเอียด จนละเอียดสุดเป็นลมปราณที่หล่อเลี้ยงขันธ์ ๕ นี้ ในเบื้องต้น เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติระลึกอยู่ในความรู้ตัวทั่วพร้อมทั่วสรรพางค์กายอันเป็นกายภายนอก จะเห็นว่าในขณะเดียวกัน ก็สามารถรู้ถึงลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งเป็นรูป (กายภายใน) แต่ยังเป็นลมหายใจที่หยาบอยู่ ต่อเมื่อมีสติระลึกอยู่ในความรู้สึกที่เป็นไปในภายใน อันเป็นอาการทางใจ ซึ่งเป็นฐานที่ละเอียดขึ้น ลมหายใจก็จะละเอียดขึ้น สติก็จะพัฒนา มีกำลังและความละเอียดมากขึ้น ต่อจากนั้น ผู้ปฏิบัติจะเริ่มสังเกตเห็นว่าตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่เราประคองไว้ช่วงบนเหนือไหล่ขึ้นไป จะเริ่มรู้สึกได้ชัดขึ้น อันเป็นผลจากการที่ผู้ปฏิบัติ ได้ละวางความรู้สึกทางร่างกายไปทีละน้อย ทีละน้อยๆ ทำให้สัมปชัญญะอันเป็นความรู้สึกที่เกาะอยู่กับร่างกายหรือทั่วสรรพางค์กายอยู่ ผละออกจากกายเป็นอิสระและเข้ามา รวมเป็นตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่เราได้ประคองไว้ช่วงบนตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกันเมื่อเรามีสติรู้ทั่วถึงถึงความรู้สึกที่เป็นไปในภายในอันเป็นอาการทางใจต่างๆ นานา จนเริ่มละวางอาการทางใจนั้นๆ ไปโดยลำดับ ความรู้สึกทั่วถึงที่เป็นไปในภายในอันเป็นสัมปชัญญะภายในก็จะเป็นอิสระ ลอยขึ้นมารวมตัวกับตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่ เราได้ประคองไว้ช่วงบนตั้งแต่ต้น เป็นอันว่าสัมปชัญญะที่เป็นความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่เป็นไปภายนอกทั่วสรรพางค์กายและสัมปชัญญะที่เป็นความรู้สึกทั่วถึงที่เป็นไป ภายในได้มารวมตัวกันกับตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่เราได้ประคองไว้ช่วงบนตั้งแต่ต้น ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาไปเป็นใจผู้รู้ที่ถึงพร้อมด้วยญาณทัสสนะ หรือวิปัสสนาญาณ ไปตามลำดับแห่งการบำเพ็ญ อุบายในขั้นละเอียดของการพัฒนาตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้นี้ให้เป็นญาณทัสสนะ ยังคงต้องอาศัยเจริญสติบนลมหายใจที่ละเอียด ซึ่งขณะนี้จะเป็นลมหายใจที่ละเอียดมากๆ จนเรียกว่าเป็นลมปราณก็ได้ กล่าวคือให้รู้สึกถึงลมหายใจที่ละเอียดมากๆ นี้ ไปพร้อมกับรู้สึกถึงตัวรู้สึกหรือสำนึกรู้ที่ชัดขึ้น ผ่องใสขึ้น จนค่อยๆ ฉายแสงจิตออกมาสว่าง กระจ่าง ผ่องใสไปโดยลำดับ ในชั้นนี้ ผู้ปฏิบัติมักจะรีบร้อนวางลมหายใจไปอยู่กับแสงสว่างโอภาสนั้นอันเป็นอรูป และไปนิ่งอยู่ในอรูปนั้น จึงเป็นการพลัดหลงเข้าไปเจริญในอรูปฌานโดยไม่ตั้งใจ คือ แทนที่จะดำเนินเข้าสู่รูปฌานทั้ง ๔ แต่กลับพลัดหลงไปสู่อรูปฌาน และหากละสังขารอยู่ในอรูปเช่นนี้ ก็จะไปเกิดเป็นอรูปพรหม ซึ่งทำให้เนิ่นช้า หรือถ้าไปหลงเพลินอยู่กับอรูป จนดับสัญญาในอรูปซี่งเป็นอรูปฌานที่ ๘ และไม่สามารถเจริญสติจนหลุดอรูปฌานที่ ๘ ไปสู่สมาบัติที่ ๙ คือสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติได้ อันนี้ หากไปละสังขารโดยยึดอรูปฌานที่ ๘ เป็นอารมณ์ ก็จะไปเกิดเป็นอสัญญีพรหม ซึ่งทำให้ฉิบหายในธรรมวินัยนี้ เพราะเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องมาศึกษาหาความรู้นับหนึ่งใหม่ เพราะสัญญาทั้งหลายรวมทั้งสัญญาในทางธรรมได้ถูกลบหายออกไปเกือบหมดหรือหมดเลย จึงต้องมาเริ่มวิวัฒนาการสร้างเสริมบำเพ็ญปัญญาบารมีกันใหม่ พระพุทธองค์จึงใช้คำว่า "ฉิบหายไปจากพระธรรมวินัยนี้"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น