สถาบันวิปัสสนาธุระ มจร

02วิปัสสนากรรมฐาน ไม่ยากอย่างที่คิด โดย เชมเย สยาดอ

บทที่ : จะก้าวหน้าต้องรู้เพิ่ม

เดินจงกรม

ขณะเดินจงกรม พึงให้จิตจดจ่ออยู่ที่อาการเคลื่อนของเท้า หากจิตไปจดจ่อที่ส่วนอื่นของเท้าหรือขา เช่น ใต้ฝ่าเท้าหรือหัวเข่า สมาธิจะอ่อนกำลังลง ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องก้าวเดินให้ช้าลง เอาจิตตามรู้อาการเคลื่อนของเท้าให้ตรงตามความเป็นจริงอย่างจดจ่อและมีพลัง

และไม่ลืมสำรวมสายตาด้วย ไม่ควรว่อกแว่กสอดส่ายสายตามองโน่นมองนี่ ความอยากมองคือเหตุ และการเหลียวมองคือผลที่ตามมา หากผู้ปฏิบัติทำลายเหตุ คีอ การอยากมองลงได้ ผล คือ การเหลียวมอง ก็จะไม่เกิด ฉะนั้น วิธีควบคุมสายตาไม่ให้สอดส่ายได้ดีที่สุดคือ กำหนดรู้ทันทีที่เกิดการอยากมอง โดยกำหนดทันทีว่า "อยากหนออยากหนอ"จนกว่าความรู้สึกที่อยากมองนั้นจะดับไป เมื่อการอยากมองอันเป็นต้นเหตุดับไป การเหลียวมองก็ย่อมไม่เกิด สมาธิก็จะไม่รั่วจนอ่อนกำลังลง ขอย้ำอีกครั้งว่า พึงกำหนดรู้การอยากมองทันทีทุกครั้ง และกำหนดรู้อยู่อย่างนั้นจนกว่าความรู้สึกที่อยากจะมองดูนั้นดับไป หลังจากนั้นจึงค่อยกลับไปจดจ่อกำหนดรู้อาการเคลื่อนของเท้าต่อไป

พอเดินจงกรมไปได้สัก 5-10 นาที จิตมักจะแว่บออกไปคิดโน่นคิดนี่ ขอให้หยุดเดิน ยืนนิ่ง กำหนดรู้ว่า "คิดหนอคิดหนอ" หรือ "ฟุ้งหนอฟุ้งหนอ" จนกว่าอาการคิดหรือฟุ้งซ่านจะดับไป แล้วจึงเดินจงกรมต่อไป

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองแคนเบอร่า ปีพ.. 2533)

ไม่ก้าวเท้ายาวเกินไป แต่ละก้าวควรสั้นแค่ประมาณ 1 ช่วงฝ่าเท้าเท่านั้น จะได้วางเท้าลงได้สะดวกและตามรู้อาการเคลื่อนของเท้าได้อย่างจดจ่อและชัดเจน หากก้าวเท้ายาวเกินไป ขณะที่เท้าหน้ากำลังจรดลงบนพื้น ความห่างของเท้าทั้งสองทำให้ส้นเท้าหลังเผยอขึ้นพร้อมๆกัน ผู้ปฏิบัติจึงกำหนด"ยกหนอ"ไม่ทัน วิธีที่ถูกต้องคือ ควรกดเท้าหน้าลงบนพื้นให้เสร็จเสียก่อน แล้วจึงค่อยๆเผยอยกส้นเท้าหลังขึ้น หากทำช้าๆ จะตามกำหนดรู้อาการเคลื่อนของเท้าทั้งสองได้ทัน ตั้งแต่ส้นเท้าเริ่มยกขึ้นเลยทีเดียว

การเดินจงกรม ควรเริ่มด้วยการกำหนด "ซ้ายย่างหนอขวาย่างหนอ" ไปประมาณ 10 นาที จากนั้น ถ้าคิดว่าสามารถข้ามการกำหนดแบบ 2 ระยะ( "ยกหนอลงหนอ" - ผู้แปล)ได้ ก็ให้ข้ามไปกำหนดแบบ 3 ระยะเลยว่า "ยกหนอย่างหนอลงหนอ" เหตุผลก็คือการกำหนดรู้แบบ 2 ระยะว่า ยกหนอ...ลงหนอนั้น ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง คล้ายกับว่า ผู้ปฏิบัติยกเท้าขึ้น("ยกหนอ") แล้ววางลงตรงที่เดิม("ลงหนอ") ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเท้ายกขึ้นแล้ว ยังย่างก้าวออกไป ก่อนจะลดลงวางด้วย เมื่อกำหนดรู้แค่ 2 ระยะคือยกหนอและลงหนอ ก็เท่ากับ ผู้ปฏิบัติเว้นการกำหนดรู้อาการท่อนกลางไป จึงไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ท่านอาจารย์จึงแนะนำว่า เมื่อกำหนด "ซ้ายย่างหนอขวาย่างหนอ.."มาพอสมควรแล้ว หากสามารถข้ามแบบ 2 ระยะไปกำหนดแบบ 3 ระยะได้เลย ก็พึงกระทำ

เมื่อสติจดจ่อมากขึ้น ผู้ปฏิบัติสามารถกำหนดรู้อาการที่เท้าสัมผัสพื้นได้ และกำหนดเพิ่มเติมว่า "ถูกหนอ"…ตอนนี้การเดินแต่ละย่างก้าวจึงกำหนดรู้ได้เป็น 4 ระยะ คือ "ยกหนอย่างหนอลงหนอถูกหนอ" ต่อมา สามารถสังเกตเพิ่มได้อีกว่า ชั่วขณะก่อนที่ส้นเท้าหลังจะเผยอขึ้นนั้น เท้าหน้าที่เพิ่งวางลงถูกพื้นจะกดลงกับพื้นก่อน กำหนดรู้ได้ทันทีว่า "กดหนอ"…การกำหนดของเราก็จะเพิ่มเป็น 5 ระยะคือ" ยกหนอย่างหนอลงหนอถูกหนอกดหนอ " อรรถกถาได้อธิบายไว้ว่า การเดินแต่ละย่างก้าวอาจกำหนดได้ถึง 6 ระยะ คือ เริ่มกำหนดรู้ตั้งแต่ส้นเท้าเผยอยกขึ้น กำหนดว่า "ยกส้นหนอ" ตามด้วยอาการที่ฝ่าเท้าและนิ้วเท้ายกขึ้น กำหนดว่า"ยกหนอ" รวม 6 ระยะเป็น "ยกส้นหนอยกหนอย่างหนอลงหนอถูกหนอกดหนอ"

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองเซนต์ปอล ปีพ.. 2533)

อยากหนอ

หากสังเกตให้ดีๆ จะพบว่า ก่อนที่ทุกๆอาการทางกายจะเกิดขึ้น ต้องมีอาการทางจิตเกิดขึ้นก่อน ซึ่งก็คืออาการอยากนั่นเอง เช่น จิตต้องอยากยกเท้าก่อน เท้าจึงจะทำอาการยกได้ เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดรู้ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า "อยากหนอยกหนอ" อาการทางกายอื่นๆก็เช่นกัน จะเกิดได้เพราะจิตเกิดอาการ"อยาก"ขึ้นก่อนเท่านั้น ตรงนี้เองทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ชัดเจนว่า อาการของจิต(อยาก)และอาการเคลื่อนไปของกาย(ยก..ย่าง ฯลฯ)มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลกัน ทั้งนี้ การเห็นและรู้แจ้งถึงความสัมพันธ์ของอาการทางกายและจิตที่เกิดขึ้นนี้ อาศัยสมาธิที่สูงพอ ด้วยสติที่มั่นคงจดจ่อตามรู้การเคลื่อนของเท้าอย่าง ต่อเนื่อง

เมื่อสมาธิมั่นคงและดิ่งลึกพอ ผู้ปฏิบัติจะเริ่มเข้าใจความเกี่ยวเนื่องของอาการทางกายและจิต และรู้แจ้งว่า ในความเป็นจริง ไม่มีบุคคลใดกำลังเดินอยู่ ไม่มีตัวตนของใครกำลังยกเท้าขึ้น ไม่มีตัวเรากำลังย่างเท้าออกไป มีแค่เพียง "อาการอยาก" ของจิตเป็นเหตุ ก่อให้เกิด"อาการยก หรือย่าง"เป็นผล หากไม่มีเหตุ กล่าวคือ อาการอยากของจิต ก็จะไม่เกิดผลที่เป็นอาการเคลื่อนไหวใดๆของกาย นี่เองคือการเห็นแจ้งและเข้าใจในกระบวนการของเหตุและผล จากการเดินจงกรมนี่เอง

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองเซนต์ปอล ปีพ.. 2533)

เท้าของเรายกขึ้นได้อย่างไร? “อาการอยากของจิตคือเหตุที่ทำให้เท้ายกขึ้น และ"อาการอยาก"อีกนั่นแหละที่ผลักให้เท้าย่างออกไป แล้วก็เกิด"อาการอยาก"อีก ที่ส่งผลให้เท้าวางลง การเห็นเช่นนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ชัดเจนว่า ไม่เคยมีตัวตน สัตว์ บุคคล หรือวิญญาณใดๆเลยเป็นผู้ยกเท้า ย่างเท้า วางเท้า มีเพียงแค่"อาการอยาก"เกิดขึ้นก่อน(มักเรียกว่า "ต้นจิต" หรือ "ตัวอยาก" - ผู้แปล) แล้วจึงเกิดอาการทางกายตามมา อาการอยากนั้นเป็นแค่อาการหรือสภาวะของจิต ที่เกิดขึ้นแล้วดับไปทันที ไม่ใช่สิ่งคงทนถาวร ไม่ใช่สิ่งที่คงอยู่ตลอดกาลให้ยึดเอามาเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ อาการอยากที่เกิดแล้วดับไปนั้นเป็นเพียงอาการของจิตตามธรรมชาติเท่านั้น และเป็นเหตุให้เกิดอาการทางกายตามมา

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองแคนเบอร่า ปีพ.. 2533)

ถูกหนอ

บัดนี้ในการเดินจงกรม ผู้ปฏิบัติกำหนดได้ละเอียดขึ้นว่า "อยากหนอยกส้นหนออยากหนอยกหนออยากหนอย่างหนออยากหนอลงหนอถูกหนออยากหนอกดหนอ" ไม่ต้องกำหนด"อยากหนอ"ก่อนอาการ"ถูก" เพราะขณะที่ผู้ปฏิบัติลดเท้าลงจนสัมผัสพื้นนั้น อาการ"ถูก"เกิดขึ้นทันทีที่เท้าแตะพื้น ไม่ว่าเราจะอยากหรือไม่ก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่า ไม่พึงกำหนด"อยากหนอ" ก่อน "ถูกหนอ"

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองเซนต์ปอล ปีพ.. 2533)

กำหนดให้ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้กำหนดรู้อิริยาบทหลักทั้ง 4 ( ภาษาธรรมเรียกว่า "อิริยาบทใหญ่" - ผู้แปล) อันได้แก่ ยืน เดิน นั่ง และนอน เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปฏิบัติอยู่ในอิริยาบทใหญ่เหล่านี้ พึงตามกำหนดรู้ทุกอาการย่อยๆที่ประกอบกันเข้ามาเป็นอิริยาบทใหญ่นั้นด้วย จากนั้นพระพุทธองค์ยังทรงสอนให้ตามกำหนดรู้อิริยาบถย่อยๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันด้วย ดังพระพุทธพจน์ว่า อะภิกกันเต ปะฏิกกันเต สัมปะชานะการี โหติ. อาโลกิเต วิโลกิเต สัมปะชานะการี โหติ. พึงมีสติกำหนดรู้ทุกอาการทางกายและจิตตามความเป็นจริง ไม่ว่ากำลังกระทำอาการใดอยู่ กำหนดรู้ให้ตรงกับอาการที่กำลังเกิดนั้นจริงๆ และกำหนดรู้ให้ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ความต่อเนื่องของสตินี้จะช่วยให้สมาธิมั่นคงและดิ่งลึกยิ่งขึ้น หากมีช่องว่างระหว่างการกำหนดรู้ครั้งก่อนกับการกำหนดรู้ที่ตามมา สติก็จะขาดช่วง ไม่ต่อเนื่อง ไม่มั่นคง

หากผู้ปฏิบัติต้องการรู้แจ้งในธรรมชาติที่แท้จริงของรูป-นาม(อาการทางกายและจิต) ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือวิญญาณใดแล้วละก็ ผู้ปฏิบัติจำต้องมีสติกำหนดรู้อาการทางกายและจิตอย่างต่อเนื่องและเท่าทันตรงตามความเป็นจริง เช่น ขณะที่ทำอาการเหยียดแขนอยู่ ให้กำหนดรู้ว่า"เหยียดหนอ..เหยียดหนอ" ขณะที่ทำอาการย่างเท้าอยู่ ก็กำหนดรู้ว่า"ย่างหนอย่างหนอ" เมื่อคู้แขนหรือขาเข้ามาก็กำหนดรู้ให้ตรงตามอาการที่กำลังเกิดอยู่นั้น สติที่จดจ่ออย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เห็นแจ้งในอาการนั้นๆตามความเป็นจริง และเข้าใจได้ชัดเจนว่านั่นเป็นเพียงอาการของธาตุลม

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองแคนเบอร่า ปีพ.. 2533)

ระวังมือจะยกขึ้นเอง

ขณะนั่งกรรมฐานแล้วรู้สึกปวดอย่างรุนแรงนั้น แม้จะรู้ว่าไม่ควรขยับปรับเปลี่ยนท่านั่ง แต่บางครั้ง ขณะที่ผู้ปฏิบัติเกิดความหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน กับความปวดที่รุนแรง มือของผู้ปฏิบัติอาจยกเคลื่อนไปมาเอง บ้างก็ยกขึ้นไปลูบหน้าหรือศีรษะ บ้างก็ยกไปลูบหรือวางลงบนเข่า นี่ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่พึงระมัดระวัง เพราะทันทีที่มือยกเคลื่อนไป จิตจะรั่วตามออกไปด้วย สมาธิจะลดลงทันที การนั่งนิ่งโดยไม่เคลื่อนไหวส่วนใดของร่างกายเลยเท่านั้นจึงจะประคองสมาธิให้ต่อเนื่อง มั่นคงและดิ่งลึกลงได้ นอกจากนี้ หากเผลอปล่อยให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเคลื่อนไหวไปเองบ่อยๆก็จะบ่มเพาะความเคยชินที่ไม่ดีจนติดเป็นนิสัย

แม้ว่ามือจะเคลื่อนไปเองโดยไม่ตั้งใจ แต่ในความเป็นจริง จิตของผู้ปฏิบัติซัดส่ายตามมือไปแล้ว ไม่พึงลืมว่า หากไม่มีตัวอยากหรือต้นจิตที่อยากเคลื่อน มือย่อมเคลื่อนไปไม่ได้ ความอยากนั้นเป็นอาการหรือสภาวะของจิต เมื่อมือที่เคลื่อนไปพาจิตให้ซัดส่ายตามไปด้วย สมาธิก็ย่อมสะดุดลง ในระหว่างนั่งกรรมฐาน พึงนั่งให้นิ่ง ไม่พึงขยับปรับเปลี่ยนท่านั่งทุกส่วน แม้แต่มือ พึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้ปฏิบัติควรนั่งให้นิ่งประดุจพระพุทธรูป

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองเซนต์ปอล ปีพ.. 2533)

สมาธิจะแนบแน่นดิ่งลึกได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติดำรงสติให้จดจ่อต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มั่นคง ตลอดทั้งวันนับตั้งแต่ลืมตาตื่น, แต่สติจะจดจ่อต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และมั่นคงได้ ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีวิริยะความพากเพียรจดจ่อกำหนดรู้มากพอ ทั้งขณะเดินจงกรม นั่งกรรมฐาน และการกำหนดอิริยาบถย่อยต่างๆ , ส่วนวิริยะความพากเพียรจะมีได้มากพอ ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระธรรมและหลักการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเข้มแข็งและมั่นคงเท่านั้น

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองแคนเบอร่า ปีพ.. 2533)

เหตุแห่งทุกข์

อะไรคือเหตุแห่งทุกข์? โลภะ-การยึดติด คือเหตุแห่งทุกข์ แม้กระทั่งการยึดติดกับประสบการณ์ดีๆจากการปฏิบัติธรรมก็คือทุกข์ กรรมฐานคือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติเข้าไปประสบและเรียนรู้ แต่ไม่พึงยึดติด หากเผลอไปเกาะเกี่ยวยึดติดกับประสบการณ์ดีๆของการปฏิบัติเมื่อวันก่อน พอมาวันนี้ การปฏิบัติไม่น่าพึงพอใจ สมาธิอ่อนลง ผู้ปฏิบัติก็เสียอกเสียใจแทบร้องไห้ พาลหงุดหงิดเพราะอยากได้ประสบการณ์ดีๆแบบวันก่อนอีกครั้ง แต่ยิ่งพยายามมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งฟุ้งซ่านหงุดหงิดมากขึ้น เกิดทุกข์มากขึ้น ความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ประสบในกรรมฐาน แต่เกิดจากความเกาะเกี่ยวยึดติด ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การเกาะเกี่ยวยึดติดคือ สมุทะยะสัจจะ (สมุทัย แปลว่า ที่มา หรือ ต้นเหตุ, สัจจะ แปลว่า ความจริง รวมแปลว่า ความจริงว่าด้วยต้นเหตุแห่งทุกข์นั่นเอง )

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองเซนต์ปอล ปีพ.. 2533)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น