สถาบันวิปัสสนาธุระ มจร

01วิปัสสนากรรมฐาน ไม่ยากอย่างที่คิด โดย เชมเย สยาดอ

เล่มที่ : วิปัสสนากรรมฐาน ไม่ยากอย่างที่คิด

บทที่ : พื้นฐานที่ควรรู้อย่างย่อๆ

แรกทีเดียว เราควรทำความรู้จักกรรมฐานในพระพุทธศาสนาซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ

สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐานเสียก่อน เพราะหากไม่ทราบถึงความแตกต่างระหว่างกรรมฐานทั้งสองแบบให้เข้าใจดี จะสับสน เอาดีไม่ได้ ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติแบบใดก็ตาม

สมถกรรมฐาน

คำว่า สมถะ ในที่นี้หมายถึง สมาธิ หรือสภาวะจิตที่สงบ เมื่อจิตเราตั้งมั่นจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวก็เรียกว่าจิตมีสมาธิ หากเราต้องการให้จิตมีสมาธิสูงขึ้นๆ ครูบาอาจารย์จะสอนให้ฝึกปฏิบัติสมถะกรรมฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายในการบรรลุถึงสมาธิระดับสูงขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า ฌาน หรือ อัปปนา (Zhan ในภาษาพม่า, Chan ในภาษาจีน และ Zen ในภาษาญี่ปุ่น - ในที่นี้ Zen จึงแปลว่า "สมาธิ" แต่มีบัณฑิตทางพุทธศาสนาบางท่านแปลคำนี้ไว้ว่า "สมถะกรรมฐาน" ) การฝึกปฏิบัติสมถะกรรมฐาน คือการตั้งใจฝึกให้จิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เช่น ลมหายใจ, กสินต่างๆ, อสุภ ฯลฯ เพื่อให้บรรลุถึงสมาธิที่ล้ำลึกในระดับที่สูงขึ้นไป

พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ปฏิบัติสมถะกรรมฐานด้วยการตามดูลมหายใจ ดังที่เรียกตามภาษาบาลีว่า อานาปานสติ การปฏิบัติสมถกรรมฐานแบบนี้เริ่มต้นด้วยการกำหนดดูลมหายใจเป็นอารมณ์เดียวของกรรมฐาน เอาใจจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก โดยส่งจิตไปรับรู้อยู่ที่ปลายจมูก เมื่อหายใจเข้า-ลมหายใจเข้าผ่านที่ปลายจมูก จิตรับรู้และกำหนดรู้ในใจว่า "เข้า" หรือ "หายใจเข้า" เมื่อหายใจออก-ลมหายใจผ่านปลายจมูกออกมา จิตรับรู้และกำหนดรู้ในใจว่า "ออก" หรือ "หายใจออก" ให้จิตจดจ่อนิ่งอยู่ที่ปลายจมูกและกำหนดรู้ "เข้า"-"ออก"-"เข้า"-"ออก" อยู่อย่างนี้เรื่อยไป

แรกๆ จิตที่ไม่คุ้นเคยย่อมจะดื้อ ไหนเลยจะยอมจดจ่อนิ่งอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออกได้นานนัก แน่นอนว่าจะต้องฟุ้งซ่านซัดส่ายวุ่นวายออกไปคิดโน่นคิดนี่อยู่ตลอดเวลา เช่น คิดเรื่องครอบครัว เพื่อนฝูง โรงเรียน มหาวิทยาลัย การเรียน ฯลฯ เมื่อใดก็ตามที่จิตซัดส่ายออกไปคิดเรื่องต่างๆ ผู้ปฏิบัติต้องดึงจิตกลับมาที่ฐานเดิมอันเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ซึ่งในที่นี้คือที่ปลายจมูก ให้จิตกลับมาจดจ่อกำหนดรู้ลมหายใจ "เข้า"-"ออก"-"เข้า"-"ออก" อย่างต่อเนื่อง และต้องระวังสติให้ดี เพราะในระยะเริ่มต้นฝึกใหม่ๆ จิตจะไม่ยอมอยู่นิ่งได้นาน แต่จะแว่บหนีเที่ยวแทบทุกขณะจิต ผู้ปฏิบัติจำต้องเพียรพยายามดึงจิตกลับมาอยู่ที่ปลายจมูก จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ "เข้า"-"ออก"-"เข้า"-"ออก" ให้ได้.ขอให้พยายามอย่างอดทน จิตจะเริ่มมีสมาธิจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับลมหายใจที่เข้า-ออกได้ดีขึ้นๆ เมื่อนั้นแหละ การปฏิบัติก็จะเริ่มก้าวหน้า

หลังจากฝึกฝนไปได้ระยะหนึ่ง อาจจะนานถึง 7-10 วัน จิตจะเริ่มตั้งมั่นจดจ่ออยู่ที่ปลายจมูกได้นานขึ้นๆ สมาธิจะเริ่มดิ่งลึกลง ….ฝึกฝนต่อไปอีกอาจจะเป็น 2-3 เดือน สมาธิจะดิ่งลึกลงๆ จนเริ่มจดจ่ออยู่กับลมหายใจแทบไม่ซัดส่าย อาจจะต่อเนื่องได้นานถึง 10-15 นาที.ทุ่มเทฝึกฝนต่อไปอีก จนในที่สุดสมาธิที่ดิ่งลึกจะทำให้จิตแนบแน่นนิ่งเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับอารมณ์กรรมฐานตลอดเวลา

ตอนนั้น จิตของผู้ปฏิบัติจะปราศจากนิวรณ์ใดๆ (นิวรณ์ 5 คือ อุปสรรคที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัติ-ผู้แปล) หมายความว่า จิตไม่ถูกรบกวน ไม่มีความขุ่นเคืองรำคาญเข้ามาแทรก บรรดานิวรณ์ทั้ง 5 ได้แก่ ความเพลิดเพลินในกามคุณ (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ความขุ่นเคืองพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความลังเลสงสัย ไม่มีทางกล้ำกรายรบกวนจิตที่มีสมาธิดิ่งลึกได้เลย เพราะขณะนั้นจิตตั้งมั่นแนบแน่นอยู่กับลมหายใจเข้า-ออกเพียงอารมณ์เดียว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สมาธิระดับสูงสามารถกำจัดเพิกถอนกิเลสออกไปจากจิตได้ จิตจะปลอดจากนิวรณ์ที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นตราบเท่าที่จิตยังมีสมาธิดิ่งลึกแนบแน่นอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก

ตราบเท่าที่จิตดื่มด่ำอยู่ในสมาธิที่ดิ่งลึก ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกปลอดโปร่ง เป็นสุข สงบ เย็น และนิ่ง ภาวะที่จิตจดจ่อแนบแน่นนิ่งอยู่เป็นอารมณ์เดียวกับลมหายใจเข้า-ออกนี้ เรียกว่า ฌาน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจิตจะมีสมาธิแนบแน่นดิ่งลึกอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน แต่จิตกลับไม่สามารถหยั่งรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของสภาวะธรรมทางกายและจิต (อาการของกายและจิต-ผู้แปล)ตามความเป็นจริงได้เลย สมถกรรมฐานจึงเป็นกรรมฐานที่ปฏิบัติเพื่อให้เกิดสมาธิ มิใช่กรรมฐานที่ปฏิบัติเพื่อการรู้แจ้ง ( รูปนามขันธ์ ตามความเป็นจริงได้ )

วิปัสสนากรรมฐาน

กรรมฐานอีกแบบหนึ่งเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนาหมายถึงการหยั่งรู้ลักษณะทั้ง 3 ประการของสรรพสิ่ง กล่าวคือ ทุกๆอาการของกายและจิต หรือ รูปและนาม ลักษณะทั้ง 3 ดังกล่าวนี้ คือ อนิจจัง-ความไม่เที่ยง ไม่คงทน, ทุกขัง-ความไม่น่าพึงพอใจ เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และ อนัตตา-ความไม่ใช่สัตว์ บุคคล วิญญาณ และไม่มีตัวตน เป็นไปตามเหตุปัจจัย วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็คือ การฝึกกำหนดตามรู้อาการต่างๆของกายและจิต หรือมักเรียกว่าสภาพธรรม หรือ สภาวธรรมทางกายและทางจิต ให้ตรงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละปัจจุบันขณะ ด้วยวิธีนี้ ผู้ปฏิบัติจะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะทั้ง 3 ประการของสภาพธรรมเหล่านั้นได้อย่างชัดแจ้ง

ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องปฏิบัติโดยการกำหนดตามรู้อาการต่างๆของกายและจิตจนเข้าไปรู้แจ้งในลักษณะทั้ง 3 ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อกำจัดกิเลสและนิวรณ์ออกไปจากจิตใจให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ความตะกละ ความละโมบ ความกระหาย-ทะยานอยาก ความเกาะเกี่ยวยึดติด ตัณหา-ราคะ ความขุ่นเคืองพยาบาท ความโง่เขลา-ลุ่มหลง ความหยิ่งผยอง-อวดดี ความอิจฉาริษยา ฯลฯ แต่ไหนแต่ไรมา เราต่างลุ่มหลง สมมุติเอาอาการต่างๆของกายและจิตที่เกิดขึ้นรวมๆกันว่าเป็นตัวตนของเรา ถ้าหากผู้ปฏิบัติสามารถเข้าไปเห็นและประจักษ์แจ้งได้ว่า อาการหรือสภาพธรรมต่างๆทางกายและจิตที่เราลุ่มหลงว่าเป็นตัวเรานั้น ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้คงทนถาวร ไม่มีอะไรน่าพึงพอใจ และไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดทั้งสิ้น ก็จะคลายความยึดติดว่าอาการหรือสภาพธรรมเหล่านั้นเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ตัวเรา ตัวเขา อีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ปฏิบัติสามารถกำจัดความเห็นผิดเกี่ยวกับตัวตน สัตว์ บุคคล และวิญญาณ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ของกิเลสและนิวรณ์ทั้งหลายได้สำเร็จ เมื่อเมล็ดพันธุ์ถูกกำจัดไปแล้ว กิเลสและนิวรณ์ย่อมจะเกิดอีกไม่ได้ จิตใจก็สงบ เป็นสุข สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างสงบสุข นี่คือวิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนาญาณ

วิปัสสนา แปลว่า ปัญญาหยั่งรู้ หรือปัญญาที่หยั่งเข้าไปเห็นสภาพธรรมทางกายและจิตตามความเป็นจริงนี้ เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน (กรรมฐานที่ก่อให้เกิดปัญญา) จนสามารถรู้ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของรูป-นาม (สภาพธรรมทางกายและจิต หรือ อาการทางกายและจิต ผู้แปล) ว่ามีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้นั้น ผู้ปฏิบัติจำต้องมีสมาธิที่ลึกพอ วิธีปฏิบัติก็คือ การเอาสติกำกับตามรู้สภาพธรรมทางกายและทางจิต(อาการของกายและจิต) ตามความเป็นจริงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญก็คือ ผู้ปฏิบัติเพียงตามรู้อาการที่เกิดขึ้น โดยไม่เข้าไปคิดแยกแยะวิเคราะห์วิจารณ์ตัดสินอาการเหล่านั้น

ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติไม่พึงแยกแยะวิเคราะห์วิจารณ์ตัดสิน หรือ ไตร่ตรองหาเหตุผลและข้อสมมุติฐานใดๆ สิ่งเดียวที่พึงปฏิบัติคือ เอาสติจดจ่อกำหนดรู้อาการต่างๆของกายและจิตให้ตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น โดยปราศจากปฏิกิริยาใดๆต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นๆ ไม่พึงพะวงพัวพันตัดสินว่าสิ่งที่เกิดนั้นดีหรือเลว เพียงกำหนดรู้อาการต่างๆตามความเป็นจริงเช่นนั้นเอง เมื่อสติค่อยๆมั่นคง ต่อเนื่อง และมีพลังมากขึ้น สมาธิก็จะลึกลงไปเรื่อยๆ เมื่อสมาธิพัฒนาไปถึงระดับหนึ่ง ผู้ปฏิบัติก็จะเริ่มประจักษ์และเข้าไปรู้แจ้งในธรรมชาติที่แท้จริงของสภาพธรรมทางกายและทางจิต (อาการทางกายและจิต) ในแต่ละปัจจุบันขณะตามที่เกิดขึ้นจริง นี่เองคือที่มาของคำว่า วิปัสสนากรรมฐาน - กรรมฐานเพื่อการรู้แจ้ง

กำหนดรู้ความคิด

สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดรู้อาการต่างๆที่เกิดขึ้นทางใจด้วย เช่น ในขณะปฏิบัติกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติอาจคิดถึงครอบครัว การงาน หรือเพื่อนฝูง จิตซัดส่ายฟุ้งซ่านเที่ยวไป บางครั้งก็สร้างจินตนาการเป็นเรื่องราวต่างๆนานา สิ่งที่พึงกระทำคือ ตั้งสติกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้นในใจขณะนั้น โดยกำหนดว่า "คิดหนอคิดหนอ" หรือ หากเห็นเป็นภาพในใจขึ้นมา ก็กำหนด "เห็นหนอเห็นหนอ" โดยไม่เข้าไปแยกแยะวิเคราะห์วิจารณ์กับความคิดหรือสิ่งที่เห็น หนทางเดียวที่จะทำให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ คือมีสติกำหนดรู้โดยไม่วิเคราะห์ตัดสินหรือมีปฏิกิริยาใดๆกับทุกสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น

ไม่พึงวิเคราะห์วิจารณ์ปรุงแต่ง

พึงระวังอย่างยิ่ง ไม่ให้เกิดปฏิกิริยาปรุงแต่งใดๆกับสิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้รับ รสชาติที่ได้ลิ้ม สัมผัสที่ถูกต้อง และความนึกคิดที่เกิดขึ้น วิธีป้องกันก็คือ ทันทีที่เกิดอาการเห็น อาการได้ยิน อาการได้กลิ่น อาการรู้รสชาติ อาการสัมผัส หรืออาการนึกคิด พึงกำหนดรู้ทันทีด้วยคำบริกรรมว่า "เห็นหนอ"… "ยินหนอ"…"กลิ่นหนอ"…"รสหนอ"…"ถูกหนอ"…หรือ "คิดหนอ" หากผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อาการเหล่านี้ได้ทันที ปฏิกิริยาหรือการปรุงแต่งใดๆในอาการนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างจากอาการเห็น หากผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ได้ทันทีที่เกิดอาการเห็น ผู้ปฏิบัติจะรับรู้การเห็นนั้นได้สั้นและรวดเร็วมาก จนไม่ทันคิดวิเคราะห์วิจารณ์สิ่งที่เห็นนั้นว่าดีหรือไม่ดี สวยหรือน่าเกลียด เมื่อวิเคราะห์วิจารณ์ไม่ทัน ก็ไม่ทันเกิดความชอบหรือไม่ชอบตามมา นั่นคือ ปฏิกิริยาปรุงแต่งใดๆจากการเห็นนั้นไม่ทันเกิด แต่หากผู้ปฏิบัติมีสติอ่อน กำหนดรู้การเห็นไม่ทันปัจจุบัน จิตจะมีเวลาพอที่จะเข้าไปแยกแยะวิเคราะห์วิจารณ์ตัดสินสิ่งที่เห็นว่าดีหรือไม่ดี ก่อให้เกิดความพึงพอใจหรือไม่พอใจตามมา หากเป็นความพึงพอใจก็จะเกิดความชอบ ความอยากได้ หรือตัณหาตามมาอีก ตัณหาคือเหตุแห่งทุกข์ ที่นี้ ตัณหาก็คือปฏิกิริยาที่เป็นผลจากการที่ผู้ปฏิบัติขาดสติในการกำหนดรู้อาการเห็นได้ในทันทีนั่นเอง จึงเปิดโอกาสให้จิตปรุงแต่งจนกลายเป็นความชอบ ความอยากได้ หรือความรักขึ้น

จากตัวอย่างดังกล่าว ผู้ปฏิบัติคงจะเข้าใจชัดเจนขึ้นแล้วว่า วิธีป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาปรุงแต่งใดๆนั้น ทำได้ง่ายๆโดยมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา กำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้นให้ได้ในทันที (เรียกว่า ทันปัจจุบัน - ผู้แปล) โดยกำหนด "เห็นหนอ เห็นหนอ" หรือ "ยินหนอ" "กลิ่นหนอ" "รสหนอ" "ถูกหนอ" "คิดหนอ" สุดแล้วแต่อาการที่เกิด หากผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อาการต่างๆของกายและของจิตที่เกิดขึ้นได้ทันปัจจุบัน ปฏิกิริยาปรุงแต่งใดๆก็จะเกิดไม่ทัน ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกสงบ นิ่ง เย็น หลักของการปฏิบัติที่สำคัญของวิปัสสนากรรมฐาน คือใช้สติ กำหนดรู้อาการทางกายและจิตให้ได้ทันปัจจุบันตามที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น โดยไม่แยกแยะวิเคราะห์วิจารณ์ปรุงแต่งใดๆ สิ่งที่พึงระมัดระวังอีกประการก็คือ ไม่นำเอาความรู้ที่เคยได้ยิน ได้ฟัง ได้เรียน ได้อ่านมาก่อนมาคิดไตร่ตรองวิเคราะห์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเพลิดเพลิน เพราะจะเป็นการปิดกั้นไม่ให้ผู้ปฏิบัติเห็นความเป็นจริงของสภาวธรรมทางกายและจิตที่กำลังกำหนดรู้อยู่

จะเห็นได้ว่า หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นง่ายแสนง่าย ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่การปฏิบัติจะก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีความพากเพียรพยายามเท่านั้น ผู้ปฏิบัติจะบรรลุถึงวิปัสสนาญาณที่สูงขึ้น หรือบรรลุสู่ทางพ้นทุกข์ได้ ก็ด้วยความพากเพียร ความอดทน และมีความวิริยะอุตสาหะพยายามอย่างไม่ลดละเท่านั้น นี่แหละคือคุณสมบัติที่สำคัญยิ่ง

จากหลักปฏิบัติของวิปัสสนากรรมฐานที่ให้ใช้สติกำหนดรู้อาการทางกายและจิตในทันทีที่อาการนั้นๆเกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่า อารมณ์กรรมฐาน (สิ่งที่เราเอาจิตเข้าไปกำหนดรู้ - ผู้แปล) ของวิปัสสนานั้นมีมากมายหลายอย่าง มิได้ใช้เพียงสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวหรืออารมณ์เดียวเช่นกับสมถกรรมฐาน ตรงกันข้าม วิปัสสนากรรมฐานใช้ทุกสภาวธรรมของกายและจิตที่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน โดยกำหนดรู้อาการใดๆก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นของกายหรือจิต ที่เด่นชัดที่สุดในปัจจุบันขณะทันทีที่อาการนั้นๆเกิดขึ้นเป็นอารมณ์กรรมฐานและกำหนดรู้ด้วยการใช้คำบริกรรมเป็นตัวช่วย ("เห็นหนอ" "ยินหนอ" "กลิ่นหนอ" "คิดหนอ" ฯลฯ - ผู้แปล)

ธาตุมนสิการ

เริ่มต้นง่ายๆ ผู้ปฏิบัติพึงเริ่มปฏิบัติด้วยการกำหนดรู้อาการพองขึ้นและยุบลงของท้อง แม้ว่าการพอง-ยุบของท้องจะมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการหายใจเข้า-ออก แต่กรรมฐานแบบที่ตามกำหนดรู้อาการพอง-ยุบของท้องนี้ก็ต่างกับกรรมฐานแบบที่ตามดูลมหายใจ หรือ อานาปานสติ อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติไม่ได้จดจ่อกำหนดรู้ที่ลมหายใจเข้า-ออก หากแต่ตามกำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวขึ้น-ลงของท้อง หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ ตามดูการเคลื่อนไหวของลมในท้อง ที่เคลื่อนพองขึ้น-ยุบลง, พองออกมาข้างหน้า-ยุบเข้าไปข้างหลัง, พองขึ้นด้านบน-ยุบลงด้านล่าง ท่านจึงเรียกกรรมฐานแบบนี้อีกอย่างว่า กรรมฐานแบบตามดูธาตุ(บาลีเรียกว่า ธาตุมนสิการ) เพราะผู้ปฏิบัติจะตามกำหนดดูธาตุทั้ง 4 อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของลมจะเป็นแบบใด พองขึ้นด้านบน ยุบลงด้านล่าง พองมาข้างหน้า หรือ ยุบไปข้างหลัง ผู้ปฏิบัติพึงตามกำหนดรู้ให้ทันตลอดว่า "พองหนอ" "ยุบหนอ" "พองหนอ" "ยุบหนอ"

ธาตุมนสิการ ตามที่ได้อธิบายมานี้ เป็นหนึ่งในหัวข้อของพระธรรมเทศนาเรื่อง มหาสติปัฏฐาน 4 ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และเพราะไม่ใช่กรรมฐานที่ตามดูลมหายใจเพียงอย่างเดียว การปฏิบัติวิปัสสนาจึงไม่ยึดเอาการเคลื่อนไหวของท้องเป็นอารมณ์กรรมฐานเพียงอารมณ์เดียว การเคลื่อนไหวของท้องเป็นอาการหรือกระบวนการที่เกิดขึ้นทางกาย ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายอาการที่ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดรู้ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อท้องเคลื่อนพองขึ้น เอาสติกำหนดรู้ บริกรรมในใจว่า "พองหนอ" เมื่อท้องเคลื่อนยุบลง เอาสติกำหนดรู้ บริกรรมในใจว่า "ยุบหนอ"

ในระยะแรกๆผู้ปฏิบัติมักจะจับและสังเกตไม่ได้ว่า จิตวอกแวกซัดส่ายออกไปทั้งๆที่กำลังกำหนดจดจ่อกับอาการเคลื่อน พองขึ้นยุบลงของท้องอยู่ แต่พอฝึกไปๆ จะเริ่มระลึกรู้ได้ทันว่าจิตกำลังซุกซน แล่นออกไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้อีกแล้ว ทันทีที่รู้ตัว พึงกำหนดรู้อาการของจิตที่เกิดขึ้นจริงนั้นทันที โดยกำหนดว่า "คิดหนอ คิดหนอ" หรือ "ฟุ้งหนอ ฟุ้งหนอ" จวบจนกระทั่งอาการคิดหรือซัดส่ายฟุ้งซ่านนั้นหยุดไป จึงกลับมาจดจ่อกำหนดรู้ที่ฐานหลัก (ในที่นี้ก็คือ อาการพอง อาการยุบของท้อง) ในขณะที่กำลังกำหนด "พองหนอ" "ยุบหนอ" ไปตามปกติอยู่นั้น หากจิตแว่บออกไปคิดหรือฟุ้งซ่านอีก ก็ให้กำหนดรู้อาการของจิตว่า "คิดหนอ คิดหนอ" หรือ "ฟุ้งหนอ ฟุ้งหนอ"อีก จนกว่าอาการคิด อาการฟุ้งนั้นจะหยุดลง แล้วจึงกลับมาจดจ่อกำหนดรู้ที่อารมณ์หลักต่อไป

ปวดหนอ

หลังจากที่นั่งกรรมฐาน (มักเรียกกันว่านั่งสมาธิ - ผู้แปล) ไปได้สัก 20-30 นาที ผู้ปฏิบัติจะเริ่มรู้สึกถึงอาการเมื่อยขบหรือเจ็บปวด อาจเป็นที่ท่อนขา ตาตุ่ม หลัง ไหล่ อาการเจ็บปวดนี้จะค่อยๆเพิ่มขึ้น จนเด่นชัดกว่าอาการเคลื่อนพอง-ยุบของท้อง เวลานั้น ให้กำหนดรู้อาการเจ็บปวดตรงจุดนั้นว่า "ปวดหนอ ปวดหนอ" เพราะเป็นอาการที่เด่นชัดที่สุดในขณะนั้น โดยกำหนดรู้อาการปวดตรงนั้นอย่างจดจ่อและมีพลัง อาการปวดนั้นอาจจะรุนแรงขึ้น ก็จำต้องอดทน เอาสติจดจ่อกำหนดรู้อยู่ที่อาการเจ็บปวดนั้น แต่หากรู้สึกว่าทนปวดไม่ไหวอีกต่อไป ไม่พึงขยับเขยื้อนปรับเปลี่ยนท่านั่งเพื่อลดความเจ็บปวดเป็นอันขาด ให้กำหนดจิตที่ทนไม่ไหวนั้นก่อน จนความรู้สึกว่าทนไม่ไหวหมดไป แต่ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ ถึงให้กำหนดลุกขึ้นเดินจงกรมแทน พึงจำไว้ว่า หากทนปวดไม่ได้ ไม่พึงขยับปรับเปลี่ยนท่านั่ง แต่พึงกำหนดลุกขึ้นช้าๆอย่างมีสติแล้วเดินจงกรม

เดินจงกรม

ขณะที่เดินจงกรม ให้เอาสติตามกำหนดรู้การเคลื่อนไปของเท้า เมื่อก้าวเท้าซ้าย จิตจดจ่อตามรู้อาการเคลื่อนไปของเท้าซ้าย กำหนดว่า "ซ้ายย่างหนอ" เมื่อก้าวเท้าขวา จิตตามจดจ่ออาการเคลื่อนไปของเท้าขวา กำหนดในใจว่า "ขวาย่างหนอ" .."ซ้ายย่างหนอขวาย่างหนอ...ซ้ายย่างหนอ...ขวาย่างหนอ"… อาการเคลื่อนของเท้าที่เรากำหนดรู้นั้นคืออาการของธาตุลม - วาโยธาตุ

ฝึกฝนกำหนดรู้อาการเคลื่อนของเท้าซ้ายและขวาไปได้สักพัก เมื่อผู้ปฏิบัติเริ่มรู้สึกว่า อาการเคลื่อนแต่ละย่างก้าวประกอบด้วย 2 ส่วน คือ อาการยกขึ้นและอาการหย่อนลง ก็จะเริ่มกำหนดรู้ได้ละเอียดขึ้น ดังนี้ เมื่อเท้ายกขึ้น กำหนดรู้อาการนั้นว่า "ยกหนอ" เมื่อเท้าหย่อนลง กำหนดรู้อาการนั้นว่า "ลงหนอ" (บางแห่งกำหนดว่า"เหยียบหนอ"-ผู้แปล) เมื่อเท้าอีกข้างยกขึ้น ก็ไปกำหนดรู้อาการของเท้าข้างใหม่ว่า "ยกหนอ" เมื่อเท้าข้างนั้นหย่อนลง ก็กำหนดต่อว่า "ลงหนอ"…การกำหนดรู้ก็จะกลายเป็น "ยกหนอ ลงหนอ..ยกหนอ..ลงหนอ..ยกหนอ..ลงหนอ"

ฝึกฝนต่อไปอีกสักพัก ก็จะตามรู้ได้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก โดยรู้ได้ถึงอาการของเท้าที่ยกขึ้น อาการที่เท้าย่างออกไป และอาการที่เท้านั้นหย่อนลง ตอนนี้ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ชัดเจนว่าการย่างเดินหนึ่งก้าวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ อาการยกเท้า อาการย่างเท้า และ อาการหย่อนเท้าลง ก็ให้กำหนดรู้ว่า "ยกหนอย่างหนอลงหนอ" แม้เท้าอีกข้างจะก้าวต่อไป ก็ยังเป็น "ยกหนอย่างหนอลงหนอ" ต่อเนื่องกันไปนั่นเอง ค่อยๆก้าวไปช้าๆ ไม่ควรเดินเร็ว เพราะหากผู้ปฏิบัติเคลื่อนไหวเร็วจะกำหนดรู้อาการเหล่านั้นได้ไม่ชัดเจน ในระหว่างที่เดินจงกรม พึงสำรวมสายตาด้วย ไม่พึงว่อกแว่กเหลือบตามองโน่นมองนี่เป็นอันขาด ขณะที่เดินจงกรมแม้ว่าศีรษะเราจะตั้งตรง แต่ให้หลุบเปลือกตาลงครึ่งหนึ่ง มองเฉพาะพื้นข้างหน้าที่ห่างออกไป 6 ฟุต ไม่ควรก้มมองใกล้กว่านั้นเพราะจะปวดเมื่อยต้นคอ

กลับหนอ

เมื่อก้าวเดินไปเรื่อยๆจนสุดทางเดิน ก็จะต้องหันกลับ วิธีกำหนดการหันกลับทำได้ดังนี้ แรกทีเดียว ให้กำหนดรู้อาการของจิตที่อยากหันกลับเสียก่อน โดยกำหนดว่า "อยากหนอ..อยากหนอ.." จากนั้นก็ค่อยๆหันกลับ และกำหนดรู้อาการที่กายค่อยๆหันกลับนั้นว่า "หันหนอหันหนอ.." หรือ " กลับหนอกลับหนอ.." จากนั้นก็กำหนดรู้อาการที่เท้าค่อยๆยกขึ้น เคลื่อน หันกลับ วางลง สลับกันทีละข้างๆอย่างต่อเนื่อง กำหนดรู้ว่า "กลับหนอกลับหนอกลับหนอกลับหนอ" จนกระทั่งเราหันหน้ากลับมายืนตรงกับทิศทางเดิมที่เราเดินมา กำหนดรู้อาการยืนว่า "ยืนหนอยืนหนอ.."ประมาณ 10 ครั้ง แล้วจึงเริ่มเดินต่อ โดยกำหนดรู้การเคลื่อนของเท้าว่า " ยกหนอย่างหนอลงหนอ "

แม้ว่าผู้ปฏิบัติควรเดินจงกรมไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงในการปฏิบัติกรรมฐาน แต่ก็อาจจะยากเกินไปสำหรับผู้เริ่มต้น จึงอนุโลมสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ ให้เดินจงกรมเพียง 30 นาที โดยตามกำหนดรู้ "ยกหนอย่างหนอลงหนอ.." เมื่อเดินจนถึงปลายทาง ให้หยุดยืนนิ่งเสียก่อน กำหนดรู้อาการที่กายยืนตั้งตรงอยู่นั้นว่า "ยืนหนอยืนหนอ" จากนั้นจึงกำหนดรู้อาการที่จิตอยากหันกลับ ว่า "อยากหนอ อยากหนอ" แล้วก็เริ่มกำหนดรู้อาการที่กายค่อยๆหันกลับอย่างช้าๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ระหว่างที่เดินจงกรมกลับไปกลับมาในเส้นทางเดิมอยู่นั้น จิตก็จะเริ่มจดจ่อกับการเคลื่อนไปของเท้าได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าจิตมีสมาธิ สมาธินี้เกิดจากการที่สติจดจ่อกับการเคลื่อนของเท้าอย่างต่อเนื่องและมีพลัง ผู้ปฏิบัติควรเดินจงกรมสลับกับการนั่งกรรมฐาน โดยเดินจงกรมก่อนนั่งกรรมฐานทุกครั้ง

นั่งกรรมฐาน

หลังจากที่เดินจงกรมเป็นเวลาพอสมควรแล้ว อยากจะนั่งกรรมฐานต่อ พึงประคองสติและสมาธิที่เกิดขึ้นจากการเดินจงกรมไว้ให้ต่อเนื่อง ไม่ให้รั่วหรือสะดุด โดยกำหนดรู้ทุกอาการที่ก้าวเดินมายังที่นั่งอย่างมีสติ "ยกหนอย่างหนอลงหนอยกหนอย่างหนอลงหนอ" เมื่อเดินมาถึงที่นั่งแล้ว ให้หยุดยืนนิ่งก่อน กำหนดรู้อาการที่กายยืนตั้งตรงอยู่นั้นว่า "ยืนหนอยืนหนอ" จากนั้น ก็กำหนดรู้อาการของจิตที่อยากนั่งว่า "อยากหนออยากหนอ.." แล้วจึงเคลื่อนไหวกายเพื่อจะนั่งลงอย่างช้า ตอนนี้ต้องกำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวของกายทีละส่วนที่ประกอบกันเข้ามาเป็นท่าหย่อนกายลงนั่งนั้น เช่น "ย่อหนอ"…"ลงหนอ"..หรือ"นั่งลงหนอ" จนกระทั่งกายสัมผัสกับเสื่อหรือเบาะรองนั่ง กำหนดรู้ว่า"ถูกหนอ"…จากนั้นจึงกำหนดรู้อาการของขาและแขนในอิริยาบทที่ขยับจัดท่านั่งไปทีละอย่าง พึงเคลื่อนไหวช้าๆเพื่อจะตามกำหนดรู้อาการต่างๆได้ทัน

การนั่งกรรมฐาน จะเลือกนั่งซ้อนขาแบบท่านั่งสมาธิ หรือท่าใดก็ได้ที่คิดว่านั่งสบาย กระดูกสันหลังต้องตั้งตรง แต่ระวังอย่าให้ยืดเหยียดเกินพอดี หลังตรง ลำคอและศีรษะตั้งตรง ค่อยๆหลับตาลง เอาสติจดจ่อตามกำหนดรู้อาการเคลื่อนของท้อง ท้องเคลื่อนพองขึ้น กำหนดรู้อาการพองว่า"พองหนอ" ท้องเคลื่อนยุบลง กำหนดรู้อาการยุบว่า"ยุบหนอ" ต่อเนื่องเรื่อยไปดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

การนั่งกรรมฐานควรจะทำสลับกับการเดินจงกรม เมื่อนั่งจนพอเพียงและกำหนดออกจากการนั่งกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติพึงประคองสมาธิ มีสติตามกำหนดรู้อาการของกายและจิต ค่อยๆกำหนดลืมตา กำหนดรู้ขณะที่เคลื่อนลุกขึ้นจากท่านั่งช้าๆ ไม่ว่า มือ แขน ขา เท้า จะค่อยๆขยับเคลื่อนที่ไปอย่างไร ก็กำหนดรู้ไปตามนั้น จนยืนนิ่ง และกำหนดเดินไปจนถึงทางเดินจงกรม แล้วจึงเริ่มเดินจงกรมด้วยการกำหนดรู้อาการเคลื่อนของเท้าซ้ายว่า "ซ้ายย่างหนอ" สลับกับอาการเคลื่อนของเท้าขวา "ขวาย่างหนอ" …เมื่อเดินไปจนสุดทางเดิน ไม่พึงลืมกำหนดอาการยืนว่า "ยืนหนอยืนหนอ" ก่อนจะกำหนดหันกลับเรื่อยไปตามที่ได้บรรยายมาแล้ว มีสติตามรู้อาการทุกอย่างที่เกิดขึ้นทางกายและทางจิตตามความเป็นจริง อาตมาขออวยพรให้ศิษย์ทุกคนเข้าใจในวิธีการของวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานแห่งปัญญานี้อย่างชัดเจน และพากเพียรเต็มกำลังความสามารถเพื่อบรรลุถึงจุดหมายกันทุกคน เทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น