บทที่ ๓ : กำหนดความคิด
บางขณะที่เดินจงกรม จิตคิดฟุ้งซ่านออกไปไหนต่อไหนแล้ว แต่ผู้ปฏิบัติยังเผลอบริกรรมเรื่อยไปว่า "ยกหนอ…ย่างหนอ…ลงหนอ…ๆๆๆ" จนเดินไปถึงกำแพงจึงสะดุ้งรู้ตัวว่า "เอ๊ะ..นี่เราเผลอคิด(ฟุ้งซ่าน)อยู่นี่นา"….สาเหตุก็คือ ไม่ระวังกำหนดรู้ให้ทันการคิดนั่นเอง จึงเผลอไปนึกเอาว่ากำลังตามกำหนดรู้การเคลื่อนของเท้าอยู่ ในการฝึกกำหนดรู้อาการของจิต อย่างน้อยควรกำหนดรู้ให้ทันการคิดทุกๆครั้ง ในระยะแรกๆกว่าที่ผู้ปฏิบัติจะกำหนดได้ ก็คิดไปจนเกือบจบแล้ว ให้พยายามตั้งใจกำหนดต่อไป ก็จะกำหนดรู้ได้เร็วขึ้น ตั้งแต่การคิดเพิ่งจะเกิดไปได้แค่ 2-3 วินาที หรืออาจกำหนดรู้ได้ทันตั้งแต่เริ่มคิดก็ยังได้ เมื่อพยายามฝึกต่อไป จิตจะว่องไวจนสามารถกำหนดรู้ได้ทันตั้งแต่เริ่มจะคิดด้วยซ้ำไป ผู้ปฏิบัติจะรู้เท่าทันจิต มายาและกลอุบายของจิตได้ในทันที เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว พึงตั้งใจฝึกกำหนดรู้ให้ทันการคิดทุกครั้ง ไม่ให้พลาด โยคีใหม่มักพบว่าการกำหนดให้ทันการคิดตั้งแต่ต้นนั้นยากมาก กว่าจะรู้ตัวมันก็คิดไปนานแล้ว จิตคิดเตลิดไป 10 ครั้ง เรากำหนดรู้ได้ทันเพียง 3 ครั้ง ให้พากเพียรฝึกฝนต่อไป ก็จะเริ่มกำหนดได้ทันขึ้น เป็น 6 ครั้ง..8 ครั้ง..และในที่สุด จะกำหนดรู้ได้ทันทุกครั้งที่จิตเริ่มคิด…เมื่อนั้น ก็ตะครุบตัวผู้ร้ายได้อยู่หมัด จิตไม่มีทางเล็ดลอดจากการควบคุมได้อีก สมาธิจะเข้มแข็งมากและจดจ่อตั้งมั่นอยู่กับทุกๆอารมณ์ที่กำหนด
การคิดไม่ใช่ศัตรู
ไม่ควรถือว่าการคิดเป็นศัตรู ตรงกันข้าม การคิดคือเพื่อนของโยคีทุกคน เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติรังเกียจการคิด ให้รู้ไว้ว่าเผลอไปยึดติดมันเข้าแล้ว เพราะทุกครั้งที่คิด ผู้ปฏิบัติจะเสียใจ ผิดหวัง "..โธ่..คิดอีกแล้ว…สมาธิมันถึงไม่ดีสักที…" แบบนี้ ก็ไปยึดติดการคิดในรูปของความเกลียด ผู้ปฏิบัตินึกว่าเกลียดการคิด แต่ที่จริงแล้วกลับชอบ การคิดนั้นจึงมาเยี่ยมผู้ปฏิบัติบ่อยขึ้นๆ…ให้ทำความเข้าใจใหม่ว่าการคิดไม่ใช่ศัตรูของการปฏิบัติ แต่เป็นเพื่อน ถ้าไม่มีการคิด ผู้ปฏิบัติก็ไม่มีโอกาสฝึกกำหนดรู้ให้ทันการคิดจนเข้าไปเห็นแจ้งในธรรมชาติที่แท้จริงของการคิดได้ หากยังไม่สามารถเข้าไปเห็นแจ้งว่าการคิดนั้นเป็นเพียงอาการของจิตที่ ไม่เที่ยง ไม่คงทน…เป็นทุกข์ ไม่น่าพึงพอใจ… และ ไม่มีตัวตน บุคคล วิญญาณ ใดๆ ผู้ปฏิบัติก็จะยังหลงยึดถือไปว่า มีเรา ตัวตนของเรา ที่กำลังคิดอยู่…"ฉันกำลังคิด..ฉันชอบความคิดนี้"… ขอเพียงกำหนดรู้การคิดให้ทัน ก็จะเข้าไปเห็นแจ้งและประจักษ์ว่าการคิดเป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ ตัวตน บุคคล ที่ไหนทั้งนั้น
ในที่สุด ผู้ปฏิบัติก็จะเริ่มเห็นว่า มี ๒ อย่างคู่กันอยู่ คือ มีการคิดเกิดขึ้นก่อน และอาการที่จิตกำหนดรู้การคิดนั้นเกิดตามมา เห็นได้ว่ามันเป็นกระบวนการของจิตที่เกิดคู่กันอยู่ เมื่อเห็นแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะไม่หลงไปยึดเอากระบวนการคิดหรือจิตที่กำหนดรู้อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตัวตน เมื่อปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ จะขจัดความเข้าใจผิดที่ยึดโยงเอาความคิดมาผูกเป็นตัวตน หรือบุคคลได้ ปัญญาญาณที่ช่วยให้เข้าใจแจ่มแจ้งเช่นนี้เกิดจากการกำหนดรู้การคิด จึงต้องถือว่าการคิดเป็นเพื่อนผู้มีอุปการคุณ ถ้าไม่มีการคิด...ไม่ได้กำหนดรู้...ไม่ได้เข้าไปเห็นการคิดตามธรรมชาติที่แท้จริง ทุกครั้งที่คิด ผู้ปฏิบัติก็จะยังคงยืดมั่นถือมั่นว่านั่นคือตัวเรา เป็นตัวตนของเราอยู่นั่นเอง ความเห็นผิดแบบนั้นเรียกว่า สักกายะทิฏฐิ หรือ อัตตะทิฏฐิ ซึ่งเป็นต้นเหตุของกิเลสทั้งมวลที่ก่อให้เกิดทุกข์
ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติจึงควรเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการคิดให้ถูกต้อง มองการคิดอย่างมิตร เพราะหากเห็นการคิดเป็นศัตรู จะเกิดการต่อต้าน และกำหนดรู้อย่างรังเกียจ รัวเร็วถี่ยิบว่า "คิดหนอ..คิดหนอ..คิดหนอ"…. ที่ถูกแล้ว ทุกๆครั้งที่การคิดมาเยือน เราควรยินดีต้อนรับการคิดอย่างเป็นมิตร ด้วยความสงบ หนักแน่น มั่นคง และกำหนดรู้จนการคิดนั้นดับไป แล้วจึงกลับมากำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานหลักตามปกติต่อไป แน่นอน การคิดจะมาเยี่ยมเยือนเราอีกบ่อยๆ เราก็เพียงแต่กำหนดรู้ให้ทัน จดจ่อ หนักแน่น เที่ยงตรง แล้วการคิดนั้นๆก็จะดับไปเอง
เมื่อปฏิบัติต่อไป ผู้ปฏิบัติก็จะประจักษ์แจ้งว่า ที่จริงแล้วความคิดนั้นไม่ได้ยืดยาวสักนิด มันเกิดขึ้นและดับไปทันทีที่เรากำหนดรู้ บ่อยครั้งที่มีความคิดใหม่เกิดตามมาทันที แล้วก็ดับไปอีกทันทีที่กำหนดรู้ เมื่อเห็นได้ชัดเจนเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งว่า การคิดหรือความคิดนั้นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่ถาวร เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ควรรู้สึกกับการคิดอย่างมิตร แต่ไม่ยึดติด หากรู้สึกอย่างนี้ได้ก็จะไม่มีการคิดครั้งใดๆมารบกวนจิตใจหรือมาทำให้ผิดหวังได้อีก สติก็จะมั่นคงขึ้น หนักแน่นขึ้น สามารถกำหนดรู้ได้ทันการคิดแทบทุกครั้ง ความคิดก็จะมาเยี่ยมเยือนผู้ปฏิบัติน้อยลงๆและอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ ทำให้สมาธิเข้มแข็งยิ่งขึ้นเช่นกัน ในที่สุด จิตจะสงบนิ่ง ไม่มีการซัดส่ายออกไปคิดโน่นนี่อีกต่อไป แต่จะมีสมาธิตั้งมั่นแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำหนดรู้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น “ ยกหนอ..ย่างหนอ..ลงหนอ” หรือ “ พองหนอ...ยุบหนอ..นั่งหนอ...ถูกหนอ” เมื่อสมาธิเข้มแข็งและดิ่งลึกมากขึ้นๆ ในที่สุดจิตก็สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลส (จิตตวิสุทธิ)
หากปฏิบัติจนผ่านประตูนี้เข้ามาได้ ก็ถือว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก้าวหน้าดีมาก สามารถหยั่งรู้และเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสภาวธรรมทางกายและทางจิตตามความเป็นจริงได้ และเริ่มบรรลุสู่วิปัสสนาญาณ ขั้นที่ ๑....ขั้นที่ ๒...ขั้นที่ ๓....เรื่อยไป แต่ไม่พึงลืมว่า กว่าจะผ่านประตูนี้เข้ามาได้ ผู้ปฏิบัติต้องทุ่มเทพากเพียรเต็มความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดอิริยาบถย่อยซึ่งท่านอาจารย์ใหญ่ มหาสี สยาดอ เน้นเรื่องนี้มาก ท่านเคยกล่าวชื่นชมโยคีที่เคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าในทุกอิริยาบถ เมื่อมานั่งลงตรงหน้าท่านก็ค่อยๆหย่อนกายลงช้าๆ ค่อยๆจัดท่าของมือและเท้า และค่อยๆประนมมือก้มกราบอาจารย์อย่างช้ามากๆ ท่านเอ่ยว่า “ โยคีที่ปฏิบัติได้อย่างนี้จะไม่มีวันพลาดการบรรลุมรรค-ผล ” สรุปว่า สิ่งสำคัญประการแรก คือ นอกจากสภาวธรรมทางกาย(อาการทางกาย)แล้ว พึงกำหนดรู้สภาวธรรมทางจิต(อาการของจิต) อารมณ์ การคิด หรือออกความเห็น ตลอดจนการสร้างภาพในจินตนาการด้วย สิ่งสำคัญประการที่สอง คือ พึงกำหนดอิริยาบถย่อยให้มากเท่าที่จะมากได้ และละเอียดเท่าที่จะละเอียดได้ ซึ่งจะทำได้โดยการเคลื่อนไหวอิริยาบถให้เชื่องช้ามากๆเท่านั้น
กำหนดเวทนาตามความเป็นจริง
วิปัสสนากรรมฐาน - กรรมฐานแห่งปัญญา มีที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งสติทั้ง 4 (มหาสติปัฏฐาน 4) อันได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน(การมีสติกำกับดูตามรู้เท่าทันอาการทางกาย) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(การมีสติกำกับดูตามรู้เท่าทันเวทนาหรือความรู้สึก) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน(การมีสติกำกับดูตามรู้เท่าทันอาการของจิต) และ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน(การมีสติกำกับดูตามรู้สภาพธรรมารมณ์) – การมีสติ หรือการตั้งสติกำกับดูตามรู้สภาพธรรมารมณ์ ในที่นี้ก็คือพึงตามกำหนดรู้ธรรมารมณ์ต่างๆ เช่น จิตที่คิดเรื่องกาม จิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่เห็น ฯลฯ เมื่อกล่าวโดยรวมอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ปฏิบัติต้องตั้งสติกำหนดรู้สภาวธรรมทางกายหรือทางจิตใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในแต่ละขณะ
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ การตั้งสติกำหนดรู้เวทนาหรือความรู้สึกนั้น แบ่งออกเป็น 5 อย่างด้วยกันคือ สุขเวทนา, โสมนัสสเวทนา, ทุกขเวทนา, โทมนัสสเวทนา และ อุเบกขาเวทนา สุขเวทนา คือความสุขความสบายที่เกิดจากสภาวธรรมทางกายหรืออาศัยอาการทางกายเป็นที่เกิด โสมนัสสเวทนา ก็เป็นความสุขความสบายเช่นกัน แต่เกิดจากจิต อันได้แก่สภาพของจิตหรืออารมณ์ เป็นความสุขที่อาศัยสภาวธรรมทางจิตเป็นที่เกิด ทุกขเวทนา เป็นความทุกข์ ความไม่สบายที่เกิดจากสภาวธรรมทางกาย หรืออาศัยอาการทางกายเป็นที่เกิด โทมนัสสเวทนา เป็นความทุกข์ ความไม่สบายที่อาศัยสภาวธรรมทางจิตเป็นที่เกิด อันได้แก่สภาพของจิตหรืออารมณ์ ส่วนอุเบกขาเวทนา เป็นเวทนาแบบเดี่ยว ไม่มีคู่เหมือน 2 อย่างแรก เป็นความรู้สึกวางเฉยของจิต(ไม่ใช่กาย) ที่อาศัยสภาวธรรมทางจิตเป็นที่เกิด
ปกติแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องประสบกับทุกขเวทนาอยู่เกือบตลอดเวลา มันเป็นความทุกข์ความไม่สบายทางกาย เช่น ปวด เกร็ง ตึง คัน ชา ฯลฯ แต่บางขณะผู้ปฏิบัติก็อาจประสบกับความสุขทางใจด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อปฏิบัติก้าวหน้าไปจนมีสมาธิเข้มแข็ง สติแจ่มชัด กำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวต่างๆได้ชัดเจนและแม่นยำ ทำให้รู้สึกสบายใจมาก เกิดปีติ ยินดีปรีดา พึงระวังการยึดติด เมื่อผู้ปฏิบัติประสบกับสภาพจิตที่เป็นสุข พึงกำหนดรู้ทันทีว่า "สุขหนอ…สุขหนอ" หรือ "พอใจหนอ…ยินดีหนอ" เมื่อจิตกำหนดรู้ได้ต่อเนื่องและมีพลัง การยึดติดจะเกิดไม่ทัน เมื่อผู้ปฏิบัติข้ามพ้นการยึดติดไปได้ ก็จะก้าวหน้าขึ้นไปอีก
เมื่อเราปฏิบัติต่อไปจนบรรลุถึงวิปัสสนาญาณที่ 11 (สังขารุเปกขาญาณ) จะไม่มีทั้งสุขและทุกข์ สมาธิจิตจะแน่วแน่ตั้งมั่นจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่กำหนดรู้โดยไม่สอดส่ายออกไป จิตจะกำหนดรู้และประจักษ์แจ้งถึงอาการเกิดขึ้นและดับไปของสภาวธรรมทั้งทางกายและทางจิตที่เกิดขึ้น ช่วงนี้จิตจะมีลักษณะเหมือนยางยืด ต่อให้ผู้ปฏิบัติทดลองส่งจิตออกไปหาสิ่งที่พึงพอใจ จิตก็จะไม่ยอมออกไป ในญาณนี้ การกำหนดรู้จะเฉียบคม มั่นคง และมีพลังมากโดยแทบไม่ต้องใช้ความวิริยะพยายามเลย ผู้ปฏิบัติจะสัมผัสถึง"ความรู้สึกวางเฉย"(อุเบกขาเวทนา)ได้ชัดเจน ความรู้สึกวางเฉยเช่นนี้จะชัดเจนจนกำหนดรู้ได้เฉพาะในญาณนี้เพียงญาณเดียวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นๆของการฝึก ผู้ปฏิบัติจะต้องผจญกับทุกขเวทนา-ความทุกข์ความไม่สบายทางกายอยู่เกือบตลอดเวลา อันที่จริงแล้ว ความทุกข์กายทุกข์ใจนั้นกำหนดรู้ได้ง่ายมาก ต่างกับความสุขกายสุขใจที่กำหนดรู้ได้ยากกว่า เพราะธรรมชาติของคนเรามักเผลอเพลิดเพลินกับความสุขจนลืมกำหนดรู้ เพราะฉะนั้น พึงเตือนตนเองอยู่เสมอให้กำหนดรู้เวทนาทุกประเภททันทีที่เกิดขึ้น ความปวดเป็นเพื่อนที่แสนประเสริฐของผู้ปฏิบัติ จนกล่าวได้ว่าเป็นกุญแจไขประตูไปสู่พระนิพพาน เพราะทุกครั้งที่ความปวดมาเยือน มันจะปรากฏชัดเจนมากในใจของผู้ปฏิบัติ และช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าไปเห็นความปวดนั้นตามความเป็นจริงได้
การกำหนดรู้เวทนาขันธ์(ขันธ์ ๕ คือองค์ประกอบ๕ หมวดที่ประชุมกันเข้ามาเป็นชีวิต เวทนาขันธ์คือองค์ประกอบหมวดที่เป็นการรับรู้อารมณ์และความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือ วางเฉย – ผู้แปล) มีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้าไปประจักษ์แจ้งในเวทนานั้นตามความเป็นจริง แต่ยังมีผู้ปฏิบัติบางคนไม่เข้าใจจุดประสงค์นี้ จึงพยายามกำหนดรู้เพื่อให้ความปวดนั้นดับหรือหายไปทุกครั้งที่ความปวดมาเยือน ครั้นเมื่อพยายามกำหนดรู้สักเท่าไหร่ความปวดก็ยังไม่หายไปสักที ก็จะรู้สึกผิดหวัง พึงระลึกไว้ว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของการกำหนดรู้ความปวดคือ การเข้าไปเห็นเวทนานั้นตามความเป็นจริง จนประจักษ์แจ้งทั้งลักษณะเฉพาะตัว และ ลักษณะทั่วไปที่มีร่วมกันของความปวดนั้น
“ลักษณะเฉพาะตัว” เรียกว่า สภาวะลักษณะ (บาลีเรียกว่า สภาวะลักขณะ, สภาวะ = เจาะจง เฉพาะตัว, ลักขณะ = ลักษณะ) ส่วน “ลักษณะทั่วไปที่มีร่วมกัน” เรียกว่า สามัญลักษณะ ( บาลีเรียกว่า สามัญลักขณะ, สามัญ = ทั่วไป ร่วมกัน, ลักขณะ = ลักษณะ) หากผู้ปฏิบัติได้บรรลุถึงจิตตวิสุทธิ(ดังได้อธิบายมาแล้ว) ก็จะค่อยๆเข้าไปประจักษ์แจ้งทั้งสภาวะลักษณะและสามัญลักษณะของสภาวธรรมทางกายและทางใจที่กำลังกำหนดรู้อยู่ได้ชัดเจน จิตยิ่งมีสมาธิเพิ่มขึ้นเท่าใด ปัญญาญาณก็จะยิ่งเฉียบคมแทงทะลุให้เกิดความกระจ่างแจ้งได้มากขึ้นเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้เอง ทุกครั้งที่เกิดทุกขเวทนาทางกาย พึงกำหนดรู้ในใจว่า " ปวดหนอ..ปวดหนอ", " ตึงหนอ…ตึงหนอ", "เมื่อยหนอ…เมื่อยหนอ", "คันหนอ…คันหนอ" หรือ "เจ็บหนอ…เจ็บหนอ" ตามแต่อาการ (แม้ว่าการกำหนดโดยใช้คำบริกรรมในใจอาจไม่จำเป็นเสมอไป แต่การบริกรรมจะช่วยให้สติจดจ่อกับอาการที่กำหนดรู้ได้ง่ายขึ้น ผู้ปฏิบัติพึงอาศัยคำบริกรรมในการกำหนดรู้จวบจนกระทั่งการปฏิบัติก้าวหน้าถึงระดับหนึ่งที่เพียงเอาจิตตามรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นก็เพียงพอแล้ว เมื่อนั้นก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำบริกรรมในการกำหนดรู้อีกต่อไป) เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติจดจ่อกับทุกขเวทนาจนสมาธิแก่กล้าขึ้น ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกปวดมากขึ้นจนอาจสรุปเอาเองว่าความปวดกำลังทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันที่จริงแล้วความปวดยังคงที่เท่าเดิมอย่างที่เป็นอยู่ แต่เพราะเหตุที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ซ้ำๆอย่างจดจ่อและใส่พลังความตั้งใจเต็มที่ สมาธิของผู้ปฏิบัติจึงเพิ่มระดับขึ้นและรับรู้อาการปวดนั้นได้ชัดเจนขึ้น เป็นเหตุให้รู้สึกว่าความปวดเพิ่มมากขึ้น พึงอดทนและระลึกไว้เสมอว่า จิตของผู้ปฏิบัติยิ่งมีสมาธิดิ่งลึกลงเท่าใด ปัญญาญาณของผู้ปฏิบัติก็จะยิ่งสามารถแทงทะลุและหยั่งรู้ได้มากขึ้นเท่านั้น
หากผู้ปฏิบัติอดทนกับความปวดและมั่นคงกับการกำหนดรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดอย่างจดจ่อในบางขณะ สมาธิของผู้ปฏิบัติจะดีขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกปวดจะค่อยๆจางลงโดยที่จิตจะเพียงระลึกรู้อาการปวดเท่านั้น เมื่อถึงระดับนี้ แม้ว่าจะมีความปวดเกิดขึ้นในขณะนั่งกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติจะไม่มีความคิดว่า ”ฉันกำลังปวด ฉันรู้สึกปวด” หากแต่จะเข้าไปประจักษ์แจ้งว่ามีแต่เพียงความปวดที่ถูกกำหนดรู้อยู่ คือมีเพียงอาการปวดและจิตที่รับรู้ ผู้ปฏิบัติไม่รู้แม้แต่ตำแหน่งแห่งที่ของอาการปวดนั้น และบางครั้ง ผู้ปฏิบัติไม่รู้สึกว่ามีร่างกายด้วยซ้ำไป ในชั่วขณะนั้น โลกทั้งโลกของผู้ปฏิบัติมีเพียงปรากฏการณ์คู่หนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ สภาพธรรมความปวดที่เกิดขึ้นและสภาพธรรมทางจิตที่รับรู้ความปวด นี่คือจุดประสงค์ของการกำหนดรู้ความปวด-เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าไปเห็นสภาวะลักษณะหรือลักษณะเฉพาะของความปวด ว่ามีลักษณะเป็นความรู้สึกทางกายที่ไม่น่าพึงพอใจซึ่งเป็นอารมณ์กรรมฐานที่ชัดเจนจับต้องได้ ส่วนสภาวะลักษณะของจิตที่กำหนดรู้คือการรับรู้เท่านั้น ผลก็คือ ผู้ปฏิบัติจะคลายความยึดติดที่ผูกเอาความเจ็บปวดไว้กับตัวเอง ความปวดเป็นเพียงความปวด ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเขา ไม่ใช่ตัวตนหรือบุคคล ปัญญาญาณที่เข้าไปหยั่งรู้ความปวดตามความเป็นจริงได้ทำลายความเข้าใจผิดของผู้ปฏิบัติเกี่ยวกับ ตัวตน สัตว์ บุคคล วิญญาณ ออกไป
เมื่อปฏิบัติต่อไปด้วยสติที่แจ่มชัดและสมาธิที่ดิ่งลึก ผู้ปฏิบัติจะเห็นกระแสคลื่นของความปวดเกิดขึ้นและจางหายเมื่อกำหนดรู้ แล้วก็มีคลื่นของความปวดใหม่เกิดขึ้นอีกและจางหายไปอีกเมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ วนเวียนต่อเนื่องกันไปอยู่เช่นนี้ ความจริงที่ผู้ปฏิบัติเข้ามาหยั่งรู้อยู่นี้ก็คือ สามัญลักษณะหรือลักษณะทั่วไปที่มีร่วมกันของความปวด ว่าเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ถาวร คงทน
ในบางขณะผู้ปฏิบัติอาจรู้สึกว่าความเจ็บปวดนั้นรุนแรงมาก แม้ว่าจิตจะกำหนดรู้อย่างเปี่ยมด้วยพลัง และสมาธิดิ่งลึกเพียงพอ แต่ความปวดมิได้จางหายไป ไม่มีคลื่นของความปวดให้รับรู้อีกต่อไป หากแต่กลายเป็นก้อนความปวดจำนวนหนึ่งที่พอจะรู้สึกถึงขอบเขตขนาดของมันได้ หากผู้ปฏิบัติอดทนและเพิ่มความวิริยะพยายามกำหนดรู้ความปวดให้มากขึ้น สมาธิของผู้ปฏิบัติจะดิ่งลึกลงจนสามารถเพ่งรวมลงที่จุดศูนย์กลางของความปวดก้อนนั้นได้ ขณะนั้นจะรู้สึกว่าความปวดรุนแรงมาก พึงอดทน อย่าท้อถอย เพียรพยายามกำหนดรู้ต่อไปว่า “ปวดหนอ...ปวดหนอ” จิตที่กำหนดรู้จะมีพลังเพิ่มขึ้นจนแทงทะลุลงไปในจุดศูนย์กลางของความปวด จนความปวดนั้นระเบิดหรือแตกกระจายออกไป ด้วยการกำหนดรู้ ผู้ปฏิบัติสามารถรับรู้การระเบิดหรือการแตกกระจายสลายตัวของความปวดได้ โดยที่ไม่รู้สึกปวด เพียงแต่รับรู้และประจักษ์แจ้ง เป็นการเข้าไปหยั่งรู้ในสามัญลักษณะว่าเป็น อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่คงทนถาวร
การรับรู้ความปวดยังมีอีกหลากหลายลักษณะ เช่น บางขณะที่สมาธิดิ่งลึกเพียงพอ ทันทีที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ความปวด มันจะดับไปทันที แล้วก็เกิดความปวดขึ้นใหม่ตรงบริเวณอื่น และดับไปทันทีอีกเช่นกันเมื่อกำหนดรู้ ขณะนั้นสมาธิของผู้ปฏิบัติแข็งกล้าดีมาก การกำหนดจึงมั่นคงแจ่มชัด เห็นความปวดดับไป...ดับไป...ดับไป จนรู้สึกยินดี มีความสุขมาก นับเป็นประสบการณ์ที่ดีมากอีกแบบหนึ่งในการเข้าไปหยั่งรู้สามัญลักษณะของความปวด
บางครั้งบางคราว ผู้ปฏิบัติใหม่อาจรู้สึกปวดจนทนไม่ไหว และอยากขยับปรับเปลี่ยนท่าเพื่อคลายความปวด หากผู้ปฏิบัติสามารถนั่งกรรมฐานได้นานอย่างน้อย ๓๐ นาทีแล้ว ก็ไม่พึงขยับปรับเปลี่ยนท่านั่งแม้สักครั้งเดียว หากทนไม่ไหวก็พึงกำหนดจิตที่ทนไม่ไหวว่า ทนไม่ไหวหนอๆๆ จนกว่าความรู้สึกนั้นหายไป แต่ถ้าทนไม่ไหวจริงๆถึงให้ลุกขึ้นเดินจงกรม เพราะการขยับปรับเปลี่ยนท่าระหว่างนั่งกรรมฐานจะทำให้สมาธิสะดุดลง และหากปรับเปลี่ยนท่าบ่อยๆก็จะบ่มเพาะความคุ้นเคยที่ไม่ดีต่อไปในวันหน้า แม้เมื่อปฏิบัติจนก้าวหน้าต่อไป ก็จะติดนิสัยเปลี่ยนท่าบ่อยๆทั้งๆที่มิได้รู้สึกเจ็บปวดมากมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ปฏิบัติที่มีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถนั่งกรรมฐานได้นานถึง ๓๐ นาที ก็อาจอนุโลมให้ขยับปรับเปลี่ยนท่าได้เพียงหนึ่งครั้ง ไม่เกินกว่านั้น หลังจากขยับปรับเปลี่ยนท่าแล้วก็ให้ตั้งใจกำหนดรู้สภาวธรรมทางกายและทางจิตที่เด่นชัดต่อไป
สมมุติว่า มีผู้ปฏิบัติใหม่คนหนึ่งนั่งกรรมฐานไปได้ราว ๑๐ นาทีก็เกิดรู้สึกปวดจนทนไม่ไหว ในกรณีนี้ก็อนุโลมให้ขยับปรับเปลี่ยนท่าได้เพราะยังนั่งได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่การขยับปรับเปลี่ยนท่าพึงทำด้วยสติ เอาสติกำกับทุกขั้นตอนโดยใช้คำบริกรรมในใจมาช่วยในการกำหนดรู้ เริ่มตั้งแต่ กำหนดรู้สภาพธรรมทางจิตที่อยากขยับว่า”อยากหนอ...อยากหนอ” เมื่อเหยียดขาออก กำหนดว่า”เหยียดหนอ...เหยียดหนอ” เมื่อขยับร่างกาย กำหนดว่า “ขยับหนอ...ขยับหนอ” หรือ “เคลื่อนหนอ...เคลื่อนหนอ” เมื่อหดขากลับมา ก็กำหนดว่า “หดหนอ..หดหนอ” ตามอาการที่เกิดขึ้นจริง สิ่งสำคัญก็คือผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติกำหนดรู้ความต้องการที่จะเคลื่อนและอาการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทุกขณะ การบริกรรมในใจจะช่วยให้จิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐานในแต่ละขณะได้ดีขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติปรับเปลี่ยนท่าเรียบร้อยแล้ว ก็พึงกำหนดตามรู้สภาวธรรมทางกายและทางจิตที่เด่นชัดต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปอีก ๕ หรือ ๑๐ นาที เขาก็อาจจะรู้สึกว่าปวดมากจนทนไม่ไหวอีกแล้ว สิ่งที่เขาพึงกระทำคือ อดทนกำหนดรู้ความปวดให้นานเท่าที่จะนานได้ จนกระทั่งรู้สึกว่าทนต่อไปไม่ไหวแล้วให้กำหนดที่จิตที่รู้สึกว่าทนไม่ไหวว่า ทนไม่ไหวหนอๆๆ จนความรู้สึกนั้นดับไป แต่หากทนไม่ไหวจริงๆ สุดท้ายจึงค่อยกำหนดลุกขึ้นอย่างมีสติและเดินจงกรมต่อ
ยังมีอีกวิธีหนึ่งในการจัดการกับความปวด หากผู้ปฏิบัติคนนั้นสามารถนั่งกรรมฐานมานานถึง ๔๕ นาทีแล้วเมื่อรู้สึกปวดมากจนทนไม่ไหวและอยากขยับปรับเปลี่ยนท่า คำแนะนำสำหรับกรณีนี้ก็คือ เขาไม่ควรขยับปรับเปลี่ยนท่า แต่ควรจะกำหนดลุกขึ้นด้วยสติและไปเดินจงกรมต่อ ทั้งนี้เพราะเขาสามารถนั่งกรรมฐานได้นานกว่า ๓๐ นาทีแล้วโดยไม่ได้ขยับปรับเปลี่ยนท่าเลย แต่หากผู้ปฏิบัติยังไม่ต้องการลุกขึ้นไปเดินจงกรมเพราะรู้สึกว่าเพิ่งจะนั่งไปเพียง ๔๕ นาทีเท่านั้นเอง เขาก็อาจจะหลีกเลี่ยงความปวดด้วยการย้ายจิตไปน้อมระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระคุณของพระพุทธองค์ (บาลีเรียกว่า พุทธานุสติ) ซึ่งเป็นสมถกรรมฐานแบบหนึ่ง วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้สึกปวดน้อยลง แท้จริงแล้วความปวดไม่ได้ลดลงเลย หากแต่เป็นเพราะจิตของผู้ปฏิบัติดิ่งลึกดื่มด่ำอยู่กับการพิจารณาคุณของพระพุทธองค์ จิตจึงรับรู้ความปวดได้ไม่เต็มที่ ทำให้รู้สึกว่าความปวดลดลง นี่คือวิธีหลีกเลี่ยงความปวดวิธีหนึ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงวิธีการสลับจากวิปัสสนากรรมฐานไปเป็นสมถกรรมฐานนี้ไว้ในภิกขุนูปัสสยสูตร (พระธรรมเทศนา ณ วิหารแห่งภิกษุณี) หากผู้ปฏิบัติคิดวุ่นวายฟุ้งซ่าน ก่อให้เกิดความรู้สึกหดหู่ ลังเลสงสัย เกียจคร้าน ง่วงเหงาหาวนอน หรือกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในสภาวะเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติคนนั้นจะไม่สามารถมีสมาธิที่ดีขึ้นได้ และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของเขาก็จะไม่ก้าวหน้า จึงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติเปลี่ยนไปปฏิบัติสมถกรรมฐานเป็นการชั่วคราว โดยจะเลือกเอาสมถกรรมฐานแบบใดก็ได้ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกยินดี มีสุข เช่น การน้อมระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า(พุทธานุสติ) การน้อมระลึกถึงคุณของพระธรรม(ธรรมานุสติ) การน้อมระลึกถึงคุณของพระสงฆ์(สังฆานุสติ) ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว(จาคานุสติ) ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา(สีลานุสติ) หรือ เมตตาภาวนา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วพยายามให้เกิดสมาธิจดจ่อในอารมณ์กรรมฐานนั้นๆ เมื่อจิตมีสมาธิดีขึ้น ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกสงบ เป็นสุข จิตจะกระจ่างใส ความขุ่นมัวฟุ้งซ่านจะไม่เข้ามารบกวนจิตเพราะผู้ปฏิบัติกำลังรู้สึกเป็นสุขกับการปฏิบัติและมีสมาธิที่แข็งกล้าในระดับหนึ่ง เมื่อนั้นเอง ผู้ปฏิบัติก็สามารถจะเปลี่ยนกลับมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อโดยกำหนดรู้สภาวธรรมทางกายและทางจิตต่อไป การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็จะก้าวหน้าขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกการปฏิบัติแบบนี้ว่า ปณิธายะภาวนา(Panidaya Bhavana) ในบางขณะผู้ปฏิบัติอาจจำเป็นต้องสลับมาใช้วิธีนี้หากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของตนไม่สามารถก้าวหน้าต่อไปได้
อาตมาขออำนวยพรให้ศิษย์ทุกคนสามารถเข้าไปหยั่งรู้แจ้งทั้งสภาวะลักษณะและสามัญลักษณะของความปวดได้ และได้บรรลุสู่มรรค-ผลนิพพานด้วยกันทุกคน เทอญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น