ปฏิจจสมุปบาท
วันนี้ คือ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2535
จุดประสงค์ในการปฏิบัติสมถกรรมฐาน มีเป้าหมายในการบรรลุถึงสมาธิในระดับที่สูงขึ้นไป อาจเรียกว่า ฌานสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิ ก็ได้ ฌานสมาธิ(Jhana concentration)แปลว่า สมาธิเพื่อองค์ฌาน-สมาธิที่ตั้งมั่นแน่วแน่นิ่งจับอยู่กับอารมณ์เดียว(fixed concentration) อัปปนาสมาธิ(Appana concentration)แปลว่า สมาธิที่ดูดดื่มแนบสนิทอยู่ในอารมณ์เดียว(absorption concentration) ทั้งสองจึงหมายความอย่างเดียวกัน เพราะเมื่อจิตมีสมาธิจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐานหนึ่งได้เป็นอย่างดีนั้น ผลก็คือ สมาธิจะตั้งมั่นแน่วแน่(fixed firmly)อยู่กับอารมณ์นั้น ขณะเดียวกันก็จะดื่มด่ำแนบสนิทอยู่ในอารมณ์นั้น(absorb into the object)ด้วย ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานบางคนอาจมีจุดประสงค์ที่จะบรรลุถึงอภิญญาญาณและมีความสามารถเหนือธรรมชาติบางอย่างได้ด้วยสมาธิระดับสูงมากๆ ดังเช่นนักบวชหรือฤาษีในโบราณกาลที่มักหลีกเร้นสู่พงไพรและปฏิบัติสมถกรรมฐานเพื่อให้มีสมาธิสูงจนกระทั่งบรรลุอภิญญาต่างๆได้
แม้ว่าผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานจะก้าวหน้าจนบรรลุอภิญญาได้แล้วก็ตาม แต่ก็จะยังไม่สามารถประจักษ์แจ้งถึงไตรลักษณ์ของสภาวธรรมทางกายและทางจิตอันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา ได้เลย เพราะจุดมุ่งหมายของเขาคือเพื่อบรรลุสู่สมาธิระดับสูง มิใช่เพื่อเข้าไปเห็นสภาวธรรมทางกายและจิตตามความเป็นจริง เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานไม่สามารถเห็นและรู้แจ้งในรูป-นามได้ก็คือ ในขณะที่สมาธิจิตของผู้ปฏิบัติดิ่งลึกอยู่ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียวมากๆนั้น สมาธิจะดิ่งลึกเกินกว่าที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถเข้าไปเห็นและประจักษ์แจ้งสภาวธรรมของกายและจิตตามความเป็นจริงได้
จุดประสงค์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็คือ การบรรลุนิพพาน–การหลุดพ้นจากทุกข์โดยการทำลายกิเลสในจิตใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง(สัมมาทิฏฐิ)เกี่ยวกับรูป-นาม ฉะนั้น ประการแรกที่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน-กรรมฐานแห่งปัญญาพึงกระทำก็คือ พึงรักษาสมาธิให้ดีในระดับหนึ่ง ที่ไม่ลึกจนเกินไป แต่อยู่ในระดับที่สูงเพียงพอที่จะก่อให้เกิดปัญญาแทงทะลุลงไปหยั่งรู้ความเป็นจริงของสภาวธรรมทางกายและจิตได้ ปัญญาหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นนี้จะทำลายกิเลสในจิตใจ ซึ่งแม้ว่าผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานผู้นั้นจะยังไม่สามารถบรรลุถึงมรรคญาณ-ผลญาณที่กำจัดกิเลสจากจิตใจได้ทั้งหมดก็ตาม แต่ก็จะสามารถละหรือทำลายกิเลสได้บ้างเป็นบางส่วน
การกำจัดหรือละกิเลสในจิตใจ (บาลีเรียกว่า ปหาน – แปลว่า ละ กำจัด ทำให้หมดสิ้นไป) นั้น มี 3 ประเภทด้วยกัน (อันที่จริง ปหานมี 5 ประเภท แต่เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของผู้ปฏิบัติใหม่ ท่านอาจารย์จึงอธิบายไว้เพียง 3 ประเภท) ประเภทที่ 1 คือ ตทังคปหาน หมายถึง การละหรือกำจัดกิเลสเพียงชั่วขณะ ประเภทที่ 2 คือ วิขัมภนปหาน หมายถึง การละหรือกำจัดกิเลสเพียงข่มเอาไว้ และประเภทที่ 3 คือ สมุจเฉทปหาน หมายถึง การละหรือกำจัดกิเลสจนเด็ดขาด ในทั้ง 3 ประเภทนี้ ตทังคปหาน ละหรือกำจัดกิเลสเพียงชั่วขณะด้วยวิปัสสนาญาณ(ปัญญาญาณที่เกิดจากวิปัสสนา) วิขัมภนปหาน ละหรือกำจัดกิเลสได้ ด้วยการข่มไว้ชั่วคราวโดยการข่มไว้ด้วยสมาธิที่ดิ่งลึก ส่วน สมุจเฉทปหาน ละหรือกำจัดกิเลสโดยเด็ดขาดคือ การบรรลุมรรค-ผล นิพพาน (ตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป)
ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อผู้ปฏิบัติดำรงสติให้ต่อเนื่องและมั่นคงได้ จิตก็จะค่อยๆมีสมาธิเพิ่มขึ้น ยิ่งสติของผู้ปฏิบัติต่อเนื่องดีขึ้นเท่าใด สมาธิก็จะดิ่งลึกลงเพียงนั้น และยิ่งสมาธิดิ่งลึกลงเท่าใด ปัญญาญาณก็จะยิ่งคมชัดขึ้นเท่านั้น ปัญญาญาณที่เฉียบคมจะแทงทะลุลงไปจนหยั่งรู้ความเป็นจริงของสภาวธรรมทางกายและจิตได้
ลองสมมุติว่า ผู้ปฏิบัติได้ยินเสียงเพลงที่ไพเราะและรู้สึกชอบ เพลิดเพลินไปกับเสียงเพลงนั้น “เพราะดีนี่ ฉันชอบ” อะไรจะเกิดขึ้น? ความรู้สึกชอบและเพลิดเพลินในเพลงอาศัยหูและเพลงที่ไพเราะจึงเกิดขึ้นได้ และเมื่อผู้ปฏิบัติละเลยไม่กำหนดรู้ว่า “ยินหนอ…ยินหนอ” ผู้ปฏิบัติก็จะยิ่งเพลิดเพลินกับการได้ยินมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้ความชอบเพิ่มพลังมากขึ้นด้วย จนเกิดความปรารถนา-อยากฟังซ้ำหรืออยากพบหน้านักร้องเจ้าของเสียงเพลงนั้น นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เพียงเพราะผู้ปฏิบัติไม่ระวังกำหนดรู้เมื่อได้ยินเสียงเพลงว่า”ยินหนอ…ยินหนอ” ก็จะก่อให้เกิดความปรารถนาดิ้นรนอยากฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือดิ้นรนวุ่นวายใจอยากพบอยากเจอนักร้องเพลงนั้นได้
และเมื่อความปรารถนานั้นแรงขึ้นๆ ก็จะเกิดการดิ้นรนกระทำการบางอย่างเพื่อที่จะได้พบหน้านักร้องผู้นั้น การกระทำนั้นอาจดีหรือไม่ดี เป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้ทั้งสิ้น เมื่อได้พบได้เจอก็อาจสนทนากัน ซึ่งอาจพูดคุยกันในเรื่องที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้อีกเช่นกัน การสนทนาพูดคุยนั้นคือ วจีกรรม ในกรณีนี้ วจีกรรมเป็นผลมาจากความมุ่งมาดปรารถนาที่รุนแรงซึ่งเริ่มต้นมาจากความปรารถนาที่จะได้ยินเพลงธรรมดาๆเท่านั้นเอง
เพราะเหตุใด กิเลสจึงเกิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่แบบนี้ได้? เป็นเพราะผู้ปฏิบัติเผลอหรือมิได้กำหนดรู้การได้ยินนั่นเอง ความรู้สึกเพลิดเพลินในเสียงเพลงจึงเกิดขึ้นโดยอาศัยหูและเพลงที่ไพเราะเป็นเหตุปัจจัย ตามภาษาบาลีว่า ปัจจยา ผัสโส, ผัสสะปัจจยา เวทนา – ปฏิจจสมุปบาท
ผัสสะปัจจยา เวทนา เพราะเรามีหู หูกระทบหรือสัมผัสกับเสียงเพลง การกระทบหรือสัมผัสนั้นเรียกว่า ผัสสะ เกิดโดยอาศัยหูและเสียงเพลงเป็นเหตุปัจจัย การกระทบนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกพึงใจหรือไม่พอใจ(เวทนา)ตามมา ผัสสะปัจจยา เวทนา จึงแปลว่า ความรู้สึกพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจอาศัยการกระทบเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
จากความเพลิดเพลินพึงพอใจที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความปรารถนาที่จะฟังเพลงซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือปรารถนาจะพบหน้านักร้อง ความปรารถนานี้เกิดจากความพึงพอใจ - เวทนาปัจจยา ตัณหา แปลว่า ความปรารถนาอาศัยความพึงพอใจเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
และเมื่อผู้ปฏิบัติมิได้พยายามกำหนดรู้หรือไม่รู้ตัวว่าเกิดความปรารถนานั้นขึ้น ความปรารถนาที่รุนแรงกว่าก็จะเกิดตามมา กลายเป็นความไขว่คว้าเกาะเกี่ยว(อุปาทาน) เมื่อไขว่คว้าเกาะเกี่ยวแล้วก็จะยึดติด แน่น ไม่ยอมปล่อย - ตัณหาปัจจยา อุปาทาน แปลว่า ความไขว่คว้าเกาะเกี่ยวยึดติดอาศัยความปรารถนาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
การไขว่คว้าเกาะเกี่ยวยึดติดนั้น ก่อให้เกิดการกระทำบางอย่าง(action or deed)เพื่อพยายามให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ไขว่คว้าเกาะเกี่ยวอยู่ การกระทำนั้นคือ ภพ (ภวะ ในภาษาบาลี)– อุปาทานะปัจจยา ภาโว แปลว่า การกระทำอาศัยความไขว่คว้าเกาะเกี่ยวยึดติดเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
การกระทำนั้นก็จะก่อให้เกิด”การเกิดใหม่”(ชาติ-rebirth)ตามมา การเกิดใหม่ครั้งนี้เป็นผลมาจากการกระทำที่ก่อไว้ในการเกิดครั้งก่อน ภวะปัจจยา ชาติ แปลว่า การเกิดใหม่อาศัยการกระทำที่ก่อไว้ในการเกิดครั้งก่อนเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
เมื่อมีการเกิดใหม่อีก ก็ย่อมต้องมีการเสื่อมลง การแก่(ชรา) และ การตาย(มรณะ) – ชาติปัจจยา ชรา มรณา แปลว่า การแก่การตายอาศัยการเกิดใหม่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
เมื่อมีการเกิดใหม่ ก่อนจะตายก็ย่อมจะต้องประสบกับความทุกข์แสนสาหัสทั้งกายและใจอีกเช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างหนึ่งของวงจรปฏิจจสมุปบาท(สภาพธรรมที่อาศัยกันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น)ที่เกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติมิได้กำหนดรู้เมื่อได้ยินเสียงเพลงว่า “ยินหนอ…ยินหนอ” เริ่มจากการที่เรามีหู หูสัมผัสหรือกระทบกับเสียงเพลง จากการกระทบนั้นจึงเกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน (สฬายตนะปัจจยา ผัสโส, ผัสสะปัจจยา เวทนา) สฬายตนะ หมายถึงอวัยวะอันเป็นทวารรับรู้ทั้ง 6 อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, ผัสโส คือ การสัมผัสหรือกระทบ เพราะเหตุที่เรามีทวารรับรู้ทั้ง 6 (ในที่นี้คือ หู)จึงเกิดการกระทบกับเสียงเพลง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การกระทบกับเสียงเพลงอาศัยหู(หนึ่งในทวารทั้ง 6)เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น และเมื่อหูกระทบกับเสียงเพลงแล้ว จึงเกิดจิตรับรู้การได้ยินขึ้น ( แม้ว่าเราจะมีหู หากไม่มีเสียงเพลง ก็ย่อมไม่เกิดการกระทบใดๆ ต้องมีทั้งหูและเสียงเพลงจึงจะเกิดการกระทบขึ้น และจากการกระทบจึงจะเกิดจิตที่รับรู้การได้ยินตามมา)
จิตที่รับรู้การได้ยินมีเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันด้วย อันได้แก่ สัญญา(การจำได้หมายรู้-perception), เวทนา (ความรู้สึก-Feeling/sensation), มนสิการ (ความใส่ใจ-attention), เจตนา (ความจงใจ-Volition), ผัสสะ (การกระทบหรือสัมผัส-contact), เอกัคคตา (ความมีอารมณ์เป็นเพียงหนึ่งเดียว-one-pointedness) และ ชีวิตินทรีย์ (พลังที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้-Vitality/psychic life) ในที่นี้ เจตสิกตัวหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับจิตที่รับรู้การได้ยินคือ เวทนา-ความรู้สึก ซึ่งเด่นชัดมากและมีพลังเหนือกว่าเจตสิกตัวอื่นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติได้ยินเสียงเพลง พึงรีบกำหนดรู้ว่า”ยินหนอ…ยินหนอ” อย่างจดจ่อ มีพลัง กำหนดเร็วๆจนกระทั่งจิตที่กำหนดรู้มีพลังเพิ่มขึ้นและมีอำนาจเหนือจิตที่รับรู้การได้ยิน ทำให้จิตรับรู้การได้ยินไม่ชัดเจนนัก จึงไม่เกิดการวิเคราะห์ตัดสินตามมาว่าเพลงนั้นไพเราะหรือไม่ และไม่เกิดการไขว่คว้าเกาะเกี่ยวยึดติดกับเสียงเพลงนั้น ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เนื่องจากจิตที่กำหนดรู้รบกวนการได้ยินและมีพลังแรงกว่านั่นเอง
เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ว่า “ยินหนอ..ยินหนอ”นั้น จิตที่รับรู้การได้ยินจะไม่สามารถรับรู้ได้เต็มที่ เป็นเหตุให้ไม่สามารถตัดสินได้ว่าเพลงนั้นไพเราะหรือไม่ น่าเพลิดเพลินหรือไม่ จะเห็นได้ว่า ในกรณีนี้ แม้ว่าจะเกิดการกระทบหรือสัมผัสระหว่างหูกับเสียงเพลง แต่ไม่เกิดความรู้สึกพึงใจหรือไม่พอใจ(เวทนา)ตามมา สติที่กำหนดรู้นี่เองช่วยกำจัดเวทนาออกไป เพียงผู้ปฏิบัติคอยเอาสติกำหนดรู้การได้ยินก็จะไม่เกิดเวทนา-ความรู้สึกพึงใจหรือไม่พอใจตามมา กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สติที่มั่นคงมีพลังจะสามารถกำจัดความรู้สึกหรือบรรเทาให้ความรู้สึก(เวทนา)อ่อนแรงลงได้
เมื่อไม่เกิดความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ ก็ย่อมไม่เกิดความปรารถนาที่จะได้ยินเสียงเพลงซ้ำๆอีก หรือ ไม่เกิดความปรารถนาอยากพบหน้านักร้องเจ้าของเสียงเพลงนั้น กล่าวเป็นบาลีว่า เวทนา นิโรธา ตัณหา นิโรธา เมื่อไม่มีความรู้สึกพึงใจหรือไม่พอใจ(เวทนา) ย่อมไม่เกิดความปรารถนา(ตัณหา)
และเมื่อไม่เกิดความปรารถนา(ตัณหา)ดังนั้น ก็ย่อมไม่เกิดความต้องการไขว่คว้าเกาะเกี่ยวยึดติด(อุปาทาน) ตัณหานิโรธา อุปาทานะ นิโรธา
ไม่มีความต้องการไขว่คว้าเกาะเกี่ยวยึดติด(อุปาทาน) ก็ย่อมไม่เกิดการกระทำใดๆ(ภะวะ-ภพ)ที่พยายามให้ได้สิ่งที่ไขว่คว้าเกาะเกี่ยวยึดติดนั้นมา อุปาทานะ นิโรธา ภวะ นิโรธา
และเมื่อไม่เกิดการกระทำใดๆ(ภะวะ-ภพ) ก็ย่อมไม่มี”การเกิดใหม่”(ชาติ) (ในที่นี้ ว่าด้วยจิตที่รับรู้การได้ยิน) ภวะ นิโรธา ชาติ นิโรธา การเกิดใหม่ของผู้ปฏิบัติยุติลงตรงนี้เอง
และแล้ว สภาวะธรรมทางกายและทางจิตของผู้ปฏิบัติก็ยุติลงเพียงนี้ ไม่มีการเกิดอีกต่อไป ความทุกข์ทั้งมวลก็ดับลง ผู้ปฏิบัติไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป ในกรณีนี้ ด้วยการเอาสติกำหนดรู้การได้ยินเสียงเพลงว่า “ยินหนอ..ยินหนอ”นี่เอง
นี่คือวิธีการปิดประตู(ทวาร)ด้วยสตินั่นเอง ในที่นี้ประตูทางหู-โสตทวารถูกปิดด้วยสติของผู้ปฏิบัติ ทำให้ศัตรูคือตัณหา(โดยมีเวทนา-ความรู้สึกเป็นกองหน้า)ไม่สามารถบุกเข้ามาจู่โจมได้ แม้เมื่อผู้ปฏิบัติได้ยินเสียงเพลงที่ไพเราะ หากมีสติที่เข้มแข็งมั่นคงต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาและกำหนดรู้ว่า”ยินหนอ...ยินหนอ” ผู้ปฏิบัติก็สามารถปิดโสตทวารจนกิเลสใดๆก็ไม่สามารถรุกรานเข้ามาได้
ผู้ปฏิบัติสามารถใช้วิธีนี้ในการปิดอีก ๕ ทวารที่เหลือด้วยเช่นกัน เมื่อเห็น พึงกำหนดรู้ว่า”เห็นหนอ...เห็นหนอ” เพื่อเปิดประตูทางตา(จักขุทวาร) เมื่อได้ยิน พึงกำหนดรู้ว่า”ยินหนอ...ยินหนอ”เพื่อปิดประตูทางหู(โสตทวาร) เมื่อได้กลิ่น พึงกำหนดรู้ว่า”กลิ่นหนอ...กลิ่นหนอ” เพื่อเปิดประตูทางจมูก(ฆานทวาร)
เมื่อรับประทานอาหาร ผู้ปฏิบัติพึงตั้งใจกำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวและสภาวธรรมทางกายต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น “ตักหนอ” “อ้า(ปาก)หนอ” “ใส่(ปาก)หนอ” “เคี้ยวหนอ” “รสหนอ” ฯลฯ การกำหนดรู้สภาวธรรมทางกายและทางจิตต่างๆด้วยพลังของสติอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถเพลิดเพลินกับอาหารที่รับประทานอยู่ เป็นการปิดประตูทางลิ้น(ชิวหาทวาร)
ตัวอย่างเช่น ในขณะรับประทานอาหาร หากผู้ปฏิบัติรับรู้รสของอาหารว่ามีรสหวานและกำหนดรู้อยู่ว่า ”เคี้ยวหนอ..เคี้ยวหนอ” หรือ “หวานหนอ...หวานหนอ” เมื่อสติมีกำลังมากขึ้นจนกระทั่งผู้ปฏิบัติสามารถเข้าไปเห็นความจริงในขณะนั้นว่า มีเพียงอาการเคี้ยวที่กำลังเกิดอยู่ หรือ มีเพียงอาการบดกันของขากรรไกรทั้งสองกำลังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง และเพียงรู้สึกว่ามีวัตถุใดวัตถุหนึ่งแทรกอยู่ตรงกลางและถูกบดถูกเคี้ยวอยู่เท่านั้น ในขณะนั้นผู้ปฏิบัติจะมิได้รับรู้รสอาหารและไม่รู้สึกถึงรสหวานเหมือนตอนเริ่มต้น การที่ผู้ปฏิบัติไม่รู้สึกว่ามีรสหวานนั่นเองที่ทำให้ไม่เกิดความพึงพอใจและปรารถนาจะเพลิดเพลินในรสนั้น แต่ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดต่อเนื่องไปอย่างมีพลังและเพิ่มความละเอียดในการกำหนดยิ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติอาจจะเริ่มรู้สึกคลื่นไส้ใคร่อาเจียนเพราะเกิดความรังเกียจในอาหารนั้น นี่มิใช่วิธีที่ถูกต้อง ความรังเกียจนั้นเป็นโทสะซึ่งเป็นกิเลสประเภทหนึ่งเช่นกัน วิธีที่ถูกต้องคือผู้ปฏิบัติพึงมีความรู้สึกที่เป็นกลาง ไม่มีทั้งความพึงใจหรือความไม่พอใจ ถ้าพึงใจก็จะเกิดความปรารถนา(ตัณหา)ตามมา เมื่อไม่พอใจก็จะเกิดความรังเกียจ(โทสะ)ตามมา วิธีรักษาความรู้สึกให้เป็นกลางก็ด้วยการเอาสติกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง ผู้ปฏิบัติก็จะปิดประตูทางลิ้น(ชิวหาทวาร)ได้
วิธีที่กล่าวมานี้เรียกว่า อินทรีย์สังวร(การสำรวมอินทรีย์) อินทรีย์ หมายถึงทวารทั้ง ๖ที่รับรู้ความรู้สึก สังวรหมายถึงการปิดกั้น ผู้ปฏิบัติพึงปิดกั้นประตูเหล่านี้ด้วยสติ เมื่อได้ยินก็พึงกำหนดรู้ว่า”ยินหนอ” เมื่อเห็นก็พึงกำหนดรู้ว่า”เห็นหนอ” เมื่อได้กลิ่นก็พึงกำหนดรู้ว่า”กลิ่นหนอ” เมื่อรับรู้รสก็พึงกำหนดรู้ว่า”รสหนอ”หรือ”เคี้ยวหนอ” เมื่อสัมผัสก็พึงกำหนดรู้ว่า”ถูกหนอ” และหากรู้สึกถึงความนุ่มความแข็งก็พึงกำหนดรู้ว่า”นุ่มหนอ”หรือ”แข็งหนอ” ซึ่งจะทำให้กิเลสเข้ามาแทรกมิได้ เพราะผู้ปฏิบัติมีสติรู้การสัมผัสอยู่
เมื่อสมาธิของผู้ปฏิบัติดิ่งลึกลงจนเกิดปัญญาที่แจ่มชัดยิ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติก็จะเริ่มเห็นว่าจิตที่รับรู้การได้ยินนั้นเกิดขึ้นและดับไป...เกิดขึ้นและดับไป...ซึ่งเป็นการเข้าไปเห็นความเป็นอนิจจัง เมื่อประจักษ์แจ้งเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติก็จะไม่เกิดความพึงพอใจหรือรังเกียจอีกต่อไป ไม่มีกิเลสใดๆในจิตใจ นี่เองคือจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน-การบรรลุสู่การดับทุกข์ด้วยการหยั่งรู้สภาวธรรมทางกายและทางจิตตามความเป็นจริง ในขณะที่จุดมุ่งหมายของสมถกรรมฐานคือการบรรลุสู่สมาธิขั้นสูงขึ้นไปเท่านั้น
ในขณะที่ผู้ปฏิบัติได้ยินเสียงเพลง หากผู้ปฏิบัติไม่มีสติกำหนดรู้ว่า”ยินหนอ...ยินหนอ”ได้ทันก็จะเกิดความพึงพอใจและความปรารถนาตามมา แต่ถ้ามีสติกำหนดรู้ได้มั่นคง ต่อเนื่อง สมาธิที่ดิ่งลึกจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้รับรู้ว่า มีเพียงการได้ยิน เสียงที่ได้ยิน และจิตที่รับรู้การได้ยินเท่านั้นที่เกิดขึ้น นี่คือวิปัสสนาญาณที่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ปัญญาญาณที่หยั่งรู้นี้เองที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติละหรือกำจัดกิเลสบางอย่าง(ที่เกิดขึ้น หากผู้ปฏิบัติละเลยการกำหนดรู้)ออกไปจากจิตใจได้
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากกิเลสที่ถูกขจัดออกไปแล้วก็ยังคงมีกิเลสตัวอื่นๆเหลืออยู่อีก อาทิเช่น ในขณะที่มองเห็นก็อาจเกิดความปรารถนาที่จะเห็นอีก หากได้ลิ้มรสก็อาจเกิดความปรารถนาที่จะลิ้มรสนั้นอีก ความปรารถนานั้นมีทั้งตัณหาและโลภะ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้การลิ้มรสก็อาจจะละหรือกำจัดตัณหาออกไปได้ แต่โลภะก็ยังมิได้ถูกแตะต้อง การกำหนดรู้การได้ยินซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องช่วยให้ผู้ปฏิบัติละหรือกำจัดเพียงตัณหา-ซึ่งเป็นกิเลสบางส่วนออกไปได้เท่านั้น คงจะจำกันได้ว่า การละหรือกำจัดกิเลสในจิตใจที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ในตอนต้นนั้นมี 3 ประเภทด้วยกัน ตัวอย่างที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า วิปัสสนาญาณนั้นสามารถละหรือกำจัดกิเลสไปได้บางส่วน(ตทังคะปหาน)นั่นเอง
อาตมาขออำนวยพรให้ศิษย์ทุกคนมีสติที่มั่นคง พึงใช้สตินั้นปิดกั้นประตูทั้ง ๖ ทวาร และบรรลุสู่จุดหมายด้วยกันทุกคน เทอญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น