ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การตามกำหนดรู้ธรรมารมณ์
(ธมฺมานุปสฺสนาสติปฏฺฐาน)
ธรรมารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตรู้หรือสิ่งที่มาประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต เมื่อเรียกให้ตรงกับสภาวะของนักปฏิบัติก็ได้แก่สภาวธรรม ซึ่งนักปฏิบัติควรเอาใจใส่เฝ้าดูและกำหนดรู้ให้ทันปัจจุบัน โดยอาศัยความเพียรมีสติระลึกรู้อยู่ทุกขณะดังนี้
ขณะเห็น กำหนดว่า เห็นหนอๆๆ โดยกำหนดเพียงอาการเงาๆ ลางๆ ของรูป ไม่ต้องกำหนดที่ตา และในขณะกำหนดก็ไม่ต้องไปจ้องดูรูป เพราะกิเลสจะเข้า
ขณะได้ยิน กำหนดว่า ได้ยินหนอๆๆ โดยกำหนดเพียงแค่อาการที่ได้ยินเสียงเท่านั้น แต่ไม่ต้องเอาจิตไปจดจ่อที่หูหรือกำหนดที่หู โดยกำหนดเพียงอาการที่ปสาทหูรับเสียงเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วหูกับเสียงต่างคนต่างอยู่
ขณะได้กลิ่น กำหนดว่า กลิ่นหนอๆๆ โดยกำหนดขณะที่จมูก(ฆานประสาท)รับรู้กลิ่น ในชั้นแรกๆ ไม่ต้องแยกแยะว่าหอมหรือเหม็น ให้กำหนดเพียงแค่กลิ่นเท่านั้น เมื่อสมาธิญาณแก่กล้าแล้ว จะสามารถกำหนดได้เอง
ขณะรู้รส กำหนดว่า รสหนอๆๆ โดยกำหนดขณะที่ลิ้น(ชิวหาประสาท)รับรู้รส ในชั้นต้นนี้ให้กำหนดเพียงแค่รสเท่านั้น ยังไม่ต้องกำหนดละเอียดมากนัก เพราะถ้ากำหนดละเอียดในขณะที่สมาธิญาณยังไม่เจริญเพียงพอ อาจกลับกลายเป็นความฟุ้งซ่านหรือเครียดไป
ขณะถูกต้องสัมผัส กำหนดว่า ถูกหนอๆๆ โดยกำหนดที่กายประสาทกระทบสัมผัสในขณะนั้นๆ เช่น
ขณะเย็น กำหนดว่า เย็นหนอๆๆ ขณะร้อน กำหนดว่า ร้อนหนอๆๆ
ขณะอ่อน กำหนดว่า อ่อนหนอๆๆ ขณะแข็ง กำหนดว่า แข็งหนอๆๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น