"..มีเต่าตัวใหญ่ตัวหนึ่ง เจ้าของมีความรู้สึกว่าเต่าอยากจะมาหาหลวงพ่อ จึงพามาที่บ้านสายลม วันแรกมาถึงเจ้าของจับใส่ไว้ในกล่อง เต่าอยากตะกายออกจากกล่องท่าเดียว พอพ้นออกมาได้ก็คลานมาหาอาตมาทันที วันรุ่งขึ้นเจ้าของพามาอีก ขณะที่หลวงพ่อเทศน์และให้นั่งเจริญพระกรรมฐานตอนกลางคืน เต่าอยู่นิ่งไม่คลานไปไหน มองตลอดเวลา พอเจริญพระกรรมฐานเสร็จ มองดูเต่า เต่ายื่นหัวออกมาจากกระดองจนสุดแล้วก้มหัวติดพื้น เต่านํ้าตาไหล อาตมาบอกว่า "เต่าตัวนี้ตายคราวนี้ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์"พอเห็นภาพนั้นก็นึกในใจว่าอยากจะรู้กฎของกรรมว่าเป็นเพราะอะไร
พอตอนเย็นขึ้นพักอาบนํ้าแล้วก็นอน วันนี้เพลียมากใจสั่นอารมณ์ไม่ทรงตัวนัก คุมอารมณ์แบบนี้มันก็จะแถไปแบบโน้น แต่มันไม่ลงตํ่ามันอยู่สูง แต่มันไม่ไปตามที่เราชอบ นึกในใจถ้ามีเรื่องอะไรจะต้องรู้ต้องเป็นแบบนี้ ถ้าคุมอารมณ์ทรงตัวเราจะไม่รู้เรื่องนั้น ถ้าเรื่องจำเป็นจะต้องรู้มีอยู่ จะคุมอารมณ์ทรงตัวไม่ได้ จะเป๋ไปไม่เข้าทางตามที่เราต้องการนัก ก็เลยหยุด พอหยุดปั๊บก็มีเสียงบอก "ให้ทำฌานสมาบัติ" พอจับก็อยู่ เมื่ออยู่แล้วจิตก็นึกถึงเต่าว่า "เต่ามีความเป็นมาอย่างไรจึงสนใจพระ สนใจคน สนใจกับสิ่งที่เป็นกุศลมาก"
พระท่านก็บอกว่า "เต่าตัวนี้ก่อนที่จะมาเป็นเต่าเป็นพระสงฆ์"
เป็นอันว่าเต่าตัวนี้มาจากพระสงฆ์ ถามท่านว่า "เป็นพระตายแล้วน่าจะเป็นเทวดาเป็นพรหม" ท่านบอก "แน่นักหรือ พระนี่ไปอบายภูมิมากกว่าเกิดเป็นคน พระที่มาเกิดเป็นคนก็น้อยกว่าที่ไปเกิดเป็นเทวดา พระที่ไปเกิดเป็นเทวดาก็ยังน้อยกว่าที่ไปเกิดเป็นพรหม"ได้ถามความเป็นมาตอนต้นเขามีความประพฤติดี รักษาศีล รักษาธรรม ทำทาน รู้สึกดีมากในเกณฑ์ของศีลไม่ใช่สมาธิ สมาธิมีเล็กน้อย มีการเสียสละ มีการให้ทาน มีการก่อสร้าง เห็นประวัติเขาดีมากแต่ว่าตอนปลายมือจิตมัวไปหน่อย ตอนใกล้จะตายก็มีบริวารมากขึ้น มีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น ก็ทำดีบ้างไม่ดีบ้าง อารมณ์ก็เลยรักลูกศิษย์มากไป ลูกศิษย์ทำไม่ดีก็ไปโกรธ โกรธจนฝังใจ โกรธประเดี๋ยวเลิกมันก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว แต่นี่โกรธค้างคืน ก็พอดีเวลาตายอารมณ์เศร้าหมองก็ไปเกิดเป็นเต่า เป็นเต่าแค่ชาติเดียวตายแล้วก็จะไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตอนพูดถึงเต่าหันหน้ามานํ้าตาไหล อาตมาเลยสงสาร
รวมความว่า อย่าลืมอารมณ์โทสะ ทุกคนต้องมีแต่พยายามฝึกอย่าให้มันค้างนาน แต่รายนี้ไม่ได้โกรธจะฆ่าใครหรอก แค่ลูกศิษย์บางคนทำไม่ดี จิตก็ไปเกาะมากเกินไป ต้องคิดว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า "อักขาตาโร ตถาคตา"แปลว่า "ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก" บอกแล้วทำดีเราก็คบหาสมาคม เมื่อไม่ทำดีเราก็เฉย หมดเรื่องกันไป คำว่าเฉยหมายความว่าไม่คบ ถ้าหนักเกินไปก็ลงพรหมทัณฑ์ ก็ต้องถือว่าตัวใครตัวมัน นี่เป็นเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ถ้าพูดตามส่วนก็ถือว่าโทษไม่มาก
แต่จิตไปเศร้าหมองไปขุ่นมัวเมื่อลูกศิษย์ทำชั่ว และก็มีอารมณ์ขัง เมื่อตอนจะตายมันกระตุกขึ้นมา นึกถึงไอ้เจ้านั่นขึ้นมา อารมณ์จึงมัวและก็ตายตอนนั้น จึงมาเกิดเป็นเต่า.."
ที่มา
http://board.palungjit.com/showthread.php?t=153946
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น