สถาบันวิปัสสนาธุระ มจร

เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปปฏิบัติ

เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปปฏิบัติ

นักปฏิบัติหลายท่านกังวลใจว่า เมื่อจะไปปฏิบัติธรรมจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง จึงจะมีความเหมาะสม รวมทั้งสามารถอยู่ปฏิบัติได้ตามวันเวลาที่ตนเองได้ตั้งใจเอาไว้ เพราะมีบางท่านขาดการเตรียมตัวที่ดีจึงทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ก่อนที่จะตัดสินใจไปปฏิบัติ ณ ที่ใดควรพิจารณาเลือกสำนักปฏิบัติหรือสถานที่ ๆ จะไปปฏิบัติ โดยต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้คือ
๑. ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านหรือชุมชนมากนัก
๒. มีการคมนาคมสะดวก
๓. เป็นสถานที่ ๆ เงียบสงัดทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
๔. มีเสียงรบกวนหรือมีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์น้อย
๕. ผู้คนไม่พลุกพล่านหรือมีคนไปมาหาสู่ที่นั่นน้อย
๖. ไม่เป็นสถานที่ตากอากาศหรือสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทำให้จิต วอกแวกหรือเกิดความรำคาญได้ง่าย
๗. มีธรรมชาติร่มรื่น มีอากาศถ่ายเทดี แสงแดดส่องถึง ไม่ชื้นหรือแห้งแล้งจนเกินไป สัตว์เลื้อยคลานและแมลงต่างๆ รบกวนน้อยจะได้ไม่ต้องเป็นกังวลเดือดร้อนรำคาญใจ
๘. ถ้าเป็นพระภิกษุจะต้องไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการบิณฑบาต
1.1
มีความสะดวกสบายในเรื่องที่อยู่อาศัยตามควรแก่สถานภาพ อาหาร และยารักษาโรค เป็นต้น
2.2
มีพระวิปัสสนาจารย์ที่มีศีลาจริยาวัตรงดงาม เป็นบัณฑิต มีความรู้ในทางทฤษฎี (ปริยัติ)พอสมควร รวมทั้งมีประสบการณ์ในวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นผู้ที่สามารถแนะนำปรับแต่งอินทรีย์ บอกแนวทางวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้องได้

2. เรื่องอาหาร นักปฏิบัติจะต้องศึกษาข้อมูลของสถานที่ ๆ ตนเองจะไปปฏิบัตินั้นว่าเขามีระเบียบในการรับประทานอาหาร ( ฉัน ) กันกี่มื้อ เป็นมังสวิรัติหรือทั่วๆไป มีน้ำปานะหรือเครื่องดื่มเสริมในช่วงบ่ายหรือไม่ บางแห่งมีอาหารให้เพียงมื้อเดียว บางแห่ง 2 มื้อ บางแห่งมีน้ำปานะและเครื่องดื่ม บางแห่งไม่มี แต่บางแห่งก็อนุญาตให้นำไปเอง เป็นต้น ต้องศึกษาดูให้ดีก่อนจะได้เตรียมตัวให้ถูกต้อง ส่วนวัดภัททันตะอาสภาราม โยคีชายหญิงมีอาหาร 2 มื้อ น้ำปานะหรือเครื่องดื่มมีให้หรือจะเตรียมมาเองก็ได้ ส่วนพระสงฆ์นั้นฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ช่วงบ่ายมีน้ำปานะถวาย

3. เรื่องการนอน นักปฏิบัติต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพราะการนอนที่บ้านกับที่วัดหรือที่สำนักปฏิบัติธรรมนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละที่ บางแห่งนอนกลางวันปฏิบัติกลางคืน บางที่ปฏิบัติกลางวันนอนกลางคืน แต่นอนน้อยลงเพียง 6 - 4 ชั่วโมง ซึ่งเราต้องเตรียมร่างกายจิตใจให้พร้อมจะได้ไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการปฏิบัติ

4. เรื่องเวลาของการปฏิบัติ ต้องศึกษาตารางเวลาของการปฏิบัติในที่ ๆ เราจะไปให้ถี่ถ้วน จะได้ไม่เป็นกังวลใจ เพราะเราจะต้องตื่นเช้า( 03.30 น.) และกว่าจะเข้านอนก็ดึก( 22.00 น.) บางท่านพึ่งจะเริ่มต้นปฏิบัติอาจจะต้องปฏิบัติให้ได้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ถ้าเป็นนักปฏิบัติเก่าที่กำหนดต่อเนื่องต้องปฏิบัติให้ได้อย่างน้อย 18-19-20-21 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจัดว่าเป็นงานหนักเหมือนกัน ฉะนั้นต้องเตรียมตัวให้พร้อม

5. เรื่องการพูดคุย ตามปกติแล้วสถานที่ปฏิบัติบางแห่งอาจจะไม่ห้าม แต่สำหรับที่วัดภัททันตะอาสภาราม ตลอดระยะเวลาของการเข้าปฏิบัติจะให้งดการพูดคุยกันโดยไม่จำเป็น ยกเว้นขณะส่งสอบอารมณ์เท่านั้น

6. เรื่องอิริยาบถ จะเน้นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ค่อนข้างจะช้า ในสายตาของคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าท่านจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ฯลฯ ฉะนั้นจึงควรทำใจให้ยอมรับตั้งแต่ต้น เมื่อมาอยู่ที่นี่เราต้องทิ้งความเคยชิน แต่มุ่งเน้นให้ใช้สติปัญญาในการกำหนดรู้อากัปกริยาและการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยปราศจากความรีบร้อนใด ๆ ทั้งสิ้น

7. เรื่องการสำรวมทวารทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ตามปกติแล้วบุคคลผู้ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จะปล่อยจิตใจให้รับรู้ไปตามอำนาจของกิเลส พอเข้าปฏิบัติแล้วต้องเอาใจใส่ตั้งสติกำหนดการรับรู้ทุกอย่าง เพื่อสกัดกั้นกิเลสไม่ให้ไหลเข้ามาทางทวาร 6 ถ้ารักษาดีหรือสำรวมดีตั้งแต่ต้นอาจเป็นผลให้การปฏิบัติของท่านประสบความก้าวหน้ายิ่งขึ้น

8. เรื่องตัดความกังวลทิ้งไป ปรับใจอยู่กับสถานภาพอันเป็นปัจจุบัน อดีตผ่านมาแล้ว กลับไปแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังเดินทางมาไม่ถึงจะไปคำนึงทำไม ถ้าจะแก้ไขจงใส่ใจที่รูปนามอันเป็นปัจจุบัน พยายามเตรียมใจและอย่าอาลัยหรือมองไกลถึงสิ่งเหล่านี้
๘.๑ อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่อาศัย ห่วงบ้านเรือน กลัวจะไม่มีคนดูแลปล่อยให้สกปรกรก รุงรัง พูดง่ายๆ ว่าติดที่อยู่
๘.๒ กุลปลิโพธ ห่วงตระกูลอุปัฏฐาก หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนเองนับถือกลัวจะขาดการ ติดต่อและเกื้อกูลตนเอง
๘.๓ ลาภปริโพธ ห่วงลาภ ติดลาภ หรือห่วงรายได้อันเป็นผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ กลัวจะสูญหายหรือขาดรายได้ตอบแทน เป็นต้น
๘.๔คณปลิโพธ ห่วงหมู่ ห่วงคณะ มิตรสหาย อาจารย์ ลูกศิษย์ บริวาร รวมทั้งผู้สนิทคุ้นเคยกัน เป็นต้น
๘.๕ กัมมปลิโพธ ห่วงการก่อสร้าง ห่วงการงาน หรือห่วงธุรกิจการงานและอาชีพของตนฯ
๘.๖ อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกลกันดาร เดินทางไปต่างประเทศ เดินทางไปท่องเทียว
๘.๗ ญาติปลิโพธ ห่วงญาติพี่น้อง บุตร ภรรยา สามี บิดามารดา ด้วยเกรงว่าจะเจ็บป่วยเดือดร้อนหรือได้รับอันตรายต่างๆ เป็นต้น
๘.๘ อาพาธปลิโพธ ห่วงอาพาธ บางท่านเป็นโรคภัยไข้เจ็บก็กลัวว่าจะกำเริบ หรือเป็นกังวลว่าลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจจะทำให้ตนเจ็บป่วย เป็นต้น
๘.๙ คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน ห่วงการสอน กลัวจะเรียนไม่ทันเพื่อน หรือห่วงการบรรยายธรรม เป็นต้น
๘.๑๐ อิทธิปลิโพธ ห่วงฤทธิ์ ห่วงอำนาจวาสนา ห่วงความเป็นไปได้ ที่ตนอาจจะเจริญรุ่งเรืองหรือประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะมัวแต่ปฏิบัติก็อาจเสียโอกาสไป หรือไม่ก็กังวลว่าคนอื่นจะแย้งชิงเอาไป เป็นต้น

9. เรื่องที่ต้องเตรียมไปเมื่อตัดสินใจจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
๙.๑ เตรียมถอดเครื่องแบบ ยศถาบรรดาศักดิ์ ลดทิฐิมานะ ทำตัวให้เรียบง่าย วางหัวโขนหรือสิ่งที่เป็นมายาไว้ที่บ้าน ที่ทำงาน อย่านำมากวนใจในห้องกรรมฐาน
๙.๒ เตรียมเครื่องนุ่งห่มให้พร้อม ถ้าคฤหัสถ์ให้ใช้สีขาวเป็นหลัก รวมทั้งของเครื่องใช้ที่จำเป็นจริงๆ ให้นำมาด้วย
๙.๓ เตรียมผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มมาเอง( ถ้าทางสำนักไม่มีให้)
๙.๔ เครื่องประดับตกแต่งร่างกายทุกชนิดไม่ต้องนำมา ยกเว้นนาฬิกาบอกเวลา
๙.๕ ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่ร้ายแรง และเป็นโรคไม่ติดต่อ ไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม ควรนำยารักษามาเองและต้องแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ไว้ด้วย เพื่อกรณีฉุกเฉิน
๙.๖ งดการติดต่อสื่อสารทุกชนิด เช่น ห้ามอ่านหนังสือทุกชนิด เขียน ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ พูดคุยผ่านโทรศัพท์มือถือ ถ้านำมาให้ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
๙.๗ เตรียมดอกไม้เทียนธูป เพื่อบูชาพระรัตนตรัยและครูบาอาจารย์
๙.๘ อย่าลืมลงทะเบียนและอ่านระเบียบให้เข้าใจก่อนตั้งใจปฏิบัติ

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น