สถาบันวิปัสสนาธุระ มจร

วิปัสสนาภาวนา






วิปัสสนาภาวนา

ความสำคัญของการเจริญภาวนา

เมื่อครั้งที่พระพุทธยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา พระองค์เสด็จออกประพาสพระนคร ขณะที่กำลังเพลิดเพลินอยู่นั้นพระองค์ได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนใน ชีวิต นั่นคือคนแก่คร่ำคร่า คนเจ็บทรมาน และคนตาย ทำให้พระองค์ทรงหวั่นวิตกว่า ? อีกไม่นานเราเองก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอย่างนี้เหมือนกัน ทำอย่างไรหนอเราจะรอดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้? เมื่อมีร้อนก็มีหนาวแก้ เมื่อมีมืดก็มีสว่างแก้ เมื่อมีความแก่ความเจ็บและความตาย ก็ต้องมีวิธีแก้อย่างแน่นอน? จากนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยทิ้งราชสมบัติ ทิ้งกองเงินกองทองออกจากพระราชวังไปอยู่กลางป่า[1] เพื่อค้นหาหนทางนั้น ในที่สุดก็ทรงค้นพบ นั่นคือการเจริญภาวนา


การเจริญภาวนา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ?กรรมฐาน? เป็นศาสตร์หนึ่งที่มีอยู่ในจักรวาลเหมือนกับศาสตร์อื่น ๆ อย่างเช่น ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ต่างกันแต่ศาสตร์นี้ต้องวิจัยในห้องแลปคือจิตล้วน ๆ และมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ความหลุดพ้นจากทุกทั้งปวง ศาสตร์นี้เป็นกลไกที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ยากที่มนุษย์จะเข้าถึงได้ สิ่งที่สามารถเข้าถึงและแทงตลอดกฎเกณฑ์นี้ได้มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นก็คือจิตที่ทรงพลานุภาพมหาศาล ซึ่งตามธรรมดาแล้วมนุษย์ล้วนมีจิตกันทุกคน แต่จิตธรรมดาจะกลายเป็นจิตที่ทรงพลานุภาพได้นั้นต้องอาศัยการบ่มเพาะเป็นเวลานาน คัมภีร์อรรถกถาบอกว่าต้องใช้เวลาถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัปเลยทีเดียว[2] ด้วยเหตุนี้เอง นาน ๆ จึงจะมีดวงจิตที่ทรงพลานุภาพมาปฏิสนธิสักครั้งหนึ่ง โลกใบนี้อุบัติมาแล้วประมาณ ๔,๖๐๐ ล้านปีซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานมาก แต่ดวงจิตที่ทรงพลานุภาพมาปฏิสนธิแค่เพียง ๔ ครั้งเท่านั้น[3] ครั้งสุดท้ายมาปฏิสนธิ เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีก่อนนี้เอง ผู้นั้นเราเรียกกันว่า ?พระสัมมาสัมพุทธเจ้า?

เรื่องการเจริญภาวนาหรือปฏิบัติกรรมฐานนี้ มนุษย์ทั่วโลกได้พยายามค้นคว้าและเข้าถึงมานานแล้ว แต่เนื่องด้วยสั่งสมบุญบารมีมาไม่เพียงพอจึงเข้าถึงได้เพียงบางส่วน คนกลุ่มนั้นก็คือพวกฤษีและศาสดาต่าง ๆ พวกท่านสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ มีฤทธิ์เดชมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดกิเลสในจิตให้หมดสิ้นไปได้[4] ยังมีความโลภ โกรธ เกลียดอยู่ ท่านเหล่านี้เข้าถึงได้เพียงแค่ระดับฌานสมาบัติเท่านั้น ยังไม่สามารถเข้าถึงวิปัสสนาปัญญา บรรลุมรรค ผล นิพพานได้[5]

หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระองค์ได้ไปศึกษาศาสตร์นี้จากสำนักฤษีต่าง ๆ ที่ มีอยู่ในสมัยนั้นจนหมดความรู้อาจารย์ แต่เมื่อออกจากสมาธิกิเลสตัณหาก็ยังมีอยู่ ยังมีความกลัวความกังวลอยู่ พระองค์จึงตัดสินพระทัยศึกษาค้นคว้าหาวิธีดับทุกข์ด้วยพระองค์เองด้วยการ เจริญวิปัสสนาภาวนา[6]


การเจริญภาวนา ๒ แบบ

การเจริญภาวนา หรือการปฏิบัติกัมมัฏฐานในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๒ ประการ

๑. สมถภาวนา(Development of Tranguility)หรือ สมถกรรมฐาน (Concentration Meditation) คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ ได้แก่ หลักหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบทางจิตใจ หรือการทำจิตใจให้เป็นสมาธิความมั่นคงนั่นเอง[7]

๒. วิปัสสนาภาวนา (Development of Insight) หรือ วิปัสสนากรรมฐาน (Insight Meditation) คือ การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง[8] ได้แก่ หลักหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในรูปนาม ขันธ์ ๕ ว่า เป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง(อนิจจัง) เป็นทุกข์ ทนได้ยาก (ทุกขัง) เป็นสภาวะที่ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขา บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา) เรียกว่า วิปัสสนา[9]

ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติหลายท่าน คิดว่า ?การปฏิบัติสมถภาวนาดีกว่าวิปัสสนาภาวนา เพราะสมถฝึกแล้วทำให้เหาะได้ รู้ใจคนอื่นได้ เสกมนต์คาถาอาคมได้ ส่วนวิปัสสนาล้วน ๆ ทำไม่ได้? แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานก็ยังเป็นเพียงปุถุชนที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดใน ๓๑ ภูมิ หาที่สุดของภพชาติไม่ได้ ยังต้องตกอบาย ทรมานในนรกอีกนับชาติไม่ถ้วน ส่วนผู้ปฏิบัติวิปัสสนานั้น ถึงแม้จะเหาะไม่ได้ เสกคาถาไม่ขลัง แต่ก็เหลือภพชาติเพียงแค่ ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง และตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไปก็จะไม่ตกอบายอีกเลย ไม่ว่าในอดีตจะเคยทำบาปอกุศลไว้มากมายปานใดก็ตาม

ผลจากสมถะไม่ว่าจะเป็นฌานสมาบัติหรืออภิญญาก็ตาม ยังเป็นเพียงโลกีย์[10] เป็นของปุถุชน เสื่อมถอยได้ เช่น ฤทธิ์ที่พระเทวทัตได้[11] เจโตวิมุตติของพระโคธิกะ[12] และฌานสมาบัติของพระภิกษุสามเณร ฤาษีและคฤหัสถ์ บางท่านที่มีเรื่องเล่าต่อกันมาในคัมภีร์ต่างๆ เป็นของมีมาก่อนพุทธกาล เช่น อาฬารดาบสกาลามโคตรได้ถึงอรูปฌานที่ ๓ อุททกดาบสรามบุตร[13]ได้ถึงอรูปฌานที่ ๔เป็นต้น[14] เป็นของมีได้ในลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา มิใช่จุดหมายของพระพุทธศาสนา เพราะไม่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ได้อย่างแท้จริง นักบวชบางลัทธิทำสมาธิจนได้ฌาน ๔ แต่ยังมีมิจฉาทิฏฐิเกี่ยวกับเรื่องอัตตาและยึดถือในฌานนั้นว่าเป็นนิพพาน ก็มี[15] ลัทธิเช่นนี้พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ

ผลที่ต้องการจากสมถะตามหลักพุทธศาสนา คือการสร้างสมาธิเพื่อใช้เป็นบาทฐานวิปัสสนา จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาสำเร็จด้วยวิปัสสนา คือการฝึกอบรมปัญญาที่มีสมาธินั้นเป็นบาทฐาน หาก บรรลุจุดหมายสูงสุดด้วยและยังได้ผลพิเศษแห่งสมถะด้วย ก็จัดว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษได้รับการยกย่องนับถืออย่างสูง แต่หากบรรลุจุดหมายแห่งวิปัสสนาอย่างเดียวไม่ได้ผลวิเศษแห่งสมถะ ก็ยังเลิศกว่าได้ผลวิเศษแห่งสมถะคือได้ฌานสมาบัติและอภิญญา ๕ แต่ยังไม่พ้นจากอวิชชาและกิเลสต่าง ๆ ไม่ต้องพูดถึงจุดหมายสูงสุด แม้แต่เพียงขั้นสมาธิ ท่านก็กล่าวว่า พระอนาคามีถึงแม้จะไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญา ก็ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญสมาธิบริบูรณ์[16] เพราะสมาธิของพระอนาคามีผู้ไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญานั้น แม้จะไม่ใช่สมาธิที่สูงวิเศษอะไรนักแต่ก็เป็นสมาธิที่สมบูรณ์ในตัวยั่งยืนคงระดับ มีพื้นฐานมั่นคง[17] เพราะไม่มีกิเลสที่จะทำให้เสื่อมถอยหรือรบกวนได้ ตรงข้ามกับสมาธิของผู้เจริญสมถะอย่างเดียวจนได้ฌานสมาบัติและอภิญญา แต่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาไม่ได้บรรลุมรรคผล แม้สมาธิ นั้นจะเป็นสมาธิขั้นสูงมีผลพิเศษ แต่ก็ขาดหลักประกันที่จะทำให้ยั่งยืนมั่นคง ผู้ได้สมาธิอย่างนี้ถ้ายังเป็นปุถุชนก็อาจถูกกิเลสครอบงำทำให้เสื่อมถอยได้



วิปัสสนาภาวนา

วิปัสสนา แปลว่า เห็นประจักษ์แจ้งพระไตรลักษณ์ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อาการที่เคลื่อนไหว ใจที่คิด เป็นต้น เป็นวิธีการปฏิบัติที่จะนำกายและใจของผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงสภาวดับ สงบเย็น(นิพพาน)ได้[18] ถ้าต้องการสุขแท้ สุขถาวรที่ไม่กลับมาทุกข์อีกก็ต้องดำเนินไปตามหนทางนี้เท่านั้น ไม่มีทางอื่น[19]

ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติหลายท่าน คิดว่า ?การปฏิบัติสมถกรรมฐานดีกว่า วิปัสสนากรรมฐาน เพราะสมถะฝึกแล้วทำให้เหาะได้ รู้ใจคนอื่นได้ เสกคาถาอาคม ได้ ส่วนวิปัสสนาทำไม่ได้? แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานก็ยังเป็นเพียงปุถุชนที่ยับต้องเวียนว่ายตายเกิดใน ๓๑ ภูมิ หาที่สุดของภพชาติไม่ได้ ยังต้องตกอบาย ทรมานในนรกอีก ส่วนผู้ปฏิบัติวิปัสสนานั้น ถึงแม้จะเหาะไม่ได้ เสกคาถาไม่ขลัง แต่เมื่อบรรลุได้เพียงขั้นโสดาบันเท่านั้น ก็จะเหลือภพชาติเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง และตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไปจะไม่ตกอบายอีกเลย ไม่ว่าในอดีตเคยทำบาปอกุศลไว้มากมายปานใดก็ตาม จะไม่ตกนรกอีกแล้ว..



คัมภีร์พระอภิธัมมสังคณี ได้ให้ความหมายของวิปัสสนาไว้ว่า
กตมา ตสฺมึ สมเย วิปสฺสนา โหติ ยา ตสฺมึ สมเย ปญฺญา ปชานานา วิจโย ปวิจโย ธมฺมวิจโย สลฺลกฺขณา อุปลกฺขณา ปจฺจุปลกฺขณา ปณฺฑิจฺจํ โกสลฺลํ เนปุญฺญํ เวภพฺยา จินฺตา อุปปริกฺขา ภูรีเมธา ปริณายิกา วิปสฺสนา สมฺปชญฺญํ ปโตโท ปญฺญา ปญฺญินฺทฺริยํ ปญฺญาพลํ ปญฺญาสตฺถํ ปญฺญาปาสาโท ปญฺญาอาโลโก ปญฺญาโอภาโส ปญฺญาปชฺโชโต ปญฺญารตนํ อโมโห ธมฺมวิจโย สมฺมาทิฏฐา อยํ ตสฺมึ สมเย วิปสฺสนา โหติ[20] ฯ
วิปัสสนาที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน คือ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาเหมือนรัตนะ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฎฐิ ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่า วิปัสสนา ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น



คัมภีร์อรรถกถา ให้ความหมาย ว่า วิปัสสนา คือ การเห็นแจ้ง หรือวิธีทำให้เกิดการเห็นแจ้ง วจนัตถะว่า อนิจฺจาทิวเสน วิวิเธน อากาเรหิ ธมฺเม ปสฺสตีติ วิปสฺสนา[21]

ปัญญาใด ย่อมเห็นสังขตธรรมมีขันธ์เป็นต้น ด้วยอาการต่างๆมีความไม่เที่ยงเป็นต้น ฉะนั้น ปัญญานั้น ชื่อว่า วิปัสสนา

คัมภีร์อรรถกถาให้ความหมายไว้ดังนี้

อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ให้ความหมายว่า ปัญญาที่กำหนดรู้สังขาร[22]

อรรถกถาอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ให้ความหมายว่า การใคร่ครวญธรรม หมายถึง การเพ่งพินิจพิจารณาเห็นธรรมโดยความเป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา[23]

คัมภีร์ฎีกาอธิบายอีกว่า วิปัสสนา คือ ความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง[24]

พระราชวรมุนี (ป.อ.ปยุตฺโต)ให้ความหมายว่า วิปัสสนา คือ ข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกฝนอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดสิ่งทั้งหลายตรงต่อสภาวะของมัน คือให้เข้าใจตามความเป็นจริง หรือ ตามที่สิ่งเหล่านั้นมันเป็นของมันเอง (ไม่ใช่เห็นไปตามที่เราวาดภาพให้มันเป็นด้วยความชอบความชัง ความอยากได้ หรือ ความขัดใจของเรา) รู้แจ้งชัดเข้าใจจริง จนถอนความหลงผิดรู้ผิดและยึดติดในสิ่งทั้งหลายได้ ถึงขั้นเปลี่ยนท่าทีต่อโลกและชีวิตใหม่ทั้งท่าทีแห่งการมอง การรับรู้ การวางจิตใจและความรู้สึกทั้งหลาย ความรู้ความเข้าใจถูกต้องที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างการปฏิบัตินั้น เรียกว่า ญาณ มีหลายระดับญาณสำคัญในขั้นสุดท้ายเรียกว่า วิชชา เป็นภาวะตรงข้ามที่กำจัดอวิชชา คือความหลงผิดไม่รู้แจ้งไม่รู้จริงให้หมดไป ภาวะจิตที่มีญาณหรือวิชชานั้น เป็นภาวะที่สุขสงบผ่องใสและเป็นอิสระ เพราะลอยตัวพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส เช่น ความชอบความชังความติดใจและความขัดใจเป็นต้นไม่ถูกบังคับหรือชักจูงโดยกิเลสเหล่า นั้น ให้มองเห็นหรือรับรู้สิ่งต่าง ๆอย่างบิดเบือน จนพาความคิดและการกระทำที่ติดตามมาให้หันเหเฉไปและไม่ต้องเจ็บปวดหรือเร่าร้อนเพราะถูกบีบคั้นหรือต่อสู้กับกิเลสเหล่านั้น ญาณและวิชชา จึงเป็นจุดมุ่งของวิปัสสนา เพราะนำไปสู่วิมุตติ คือความหลุดพ้นเป็นอิสระที่แท้จริงซึ่งยั่งยืนถาวร ท่านเรียกว่า สมุจเฉทนิโรธ หรือสมุจเฉทวิมุตติ แปลว่า ดับกิเลส หรือหลุดพ้นโดยเด็ดขาด[25]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น