สถาบันวิปัสสนาธุระ มจร

ถาม-ตอบ วิปัสสนา

คำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐาน

โดย ท่านพระครูศรีโชติญาณ

 

ถาม การเจริญวิปัสสนา ต่างกับ การเจริญสมถะ อย่างไรบ้าง ?
ตอบ ต่างกันโดยอารมณ์
ต่างกันโดยปหานะ
ต่างกันโดยกิจ
ต่างกันโดยลักษณะ
ต่างกันโดยอานิสงส์
และต่างกันโดยสภาวะ
คือ การเจริญวิปัสสนา เป็นการทำปัญญาที่รู้ซึ้งถึงนามรูป พร้อมด้วยลักษณะให้เกิดขึ้น

ส่วนการเจริญสมถะนั้น เป็นการทำสมาธิ ที่ตั้งมั่นในบัญญัติกรรมฐานอารมณ์ให้เกิดขึ้น
แต่ถ้าจะว่ากันโดยอารมณ์แล้ว วิปัสสนาก็มีพระไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นลักษณะของนามรูปเป็นอารมณ์
แต่สมถะนั้นมีบัญญัติกรรมฐาน มีกสิณ เป็นต้น เป็นอารมณ์

ถ้าจะว่ากันโดยปหานะ คือการละแล้ว วิปัสสนาก็จัดเป็น ตทังคปหาน คือ ละอนุสัยกิเลส มีทิฎฐานุสัย เป็นต้น ที่นอนเนื่องอยู่ในโลกียะจิตทุกๆดวง ตลอดระยะเวลาที่วิปัสสนานั้นเกิดขึ้น
ส่วนสมถะก็เป็นได้เพียง วิกขัมภนปหาน คือ ละได้ด้วยการกด หรือข่มนิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นกิเลสอย่างกลางเข้าไว้ได้ ด้วยอำนาจขององค์ฌานท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจที่จะละอนุสัยกิเลสได้เหมือนวิปัสสนา

 

ถ้าจะว่ากันโดยกิจแล้ว วิปัสสนามีกิจกำจัดอวิชชา คือ ความไม่รู้ซึ้งถึงสภาวะความจริงที่เป็นม่านมืด คอยปกปิดสภาวะความจริงของอารมณ์อยู่ ส่วนสมถะนั้น มีกิจกำจัดนิวรณ์ ๕ มีกามฉันทะนิวรณ์ เป็นต้น

ถ้าจะว่ากันโดยลักษณะแล้ว วิปัสสนามีลักษณะรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาวะความจริงของอารมณ์ เป็นลักษณะ ส่วนสมถะ มีความไม่ฟุ้งซ่าน ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เป็นลักษณะ

แต่เมื่อจะว่ากันโดยอานิสงส์แล้ว วิปัสสนามีอาสวะขัย คือ ความสิ้นจากกิเลสทั้งปวงในชาติปัจจุบัน และมีการสิ้นชาติสิ้นภพในอนาคตชาติเป็นอานิสงส์ ส่วนสมถะนั้น ก็มีอานิสงส์ทำให้ได้อภิญญาสมาบัติทั้ง ๕ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น เป็นคนมีจิตใจเยือกเย็น เนื่องจากสงบระงับนิวรณ์ ที่มากลุ้มรุมจิตใจเสียได้ในชาติปัจจุบัน
ส่วนอานิสงส์ในอนาคตชาตินั้น สมถะก็มีอานิสงส์ทำให้เกิดในพรหมโลกได้

ถ้าจะว่ากันโดยสภาวะของธรรมะทั้งสองอย่างนั้นแล้ว วิปัสสนาเป็นเรื่องของปัญญาโดยตรง
ส่วนสมถะนั้นเป็นเรื่องของสมาธิโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เกี่ยวกับปัญญาเลย
จึงขอให้ท่านผู้สนใจในธรรมพึงรับทราบตามนี้ ฯ

 

ถาม ผู้ที่จะปฎิบัติธรรมตามแนวมหาสติปัฎฐาน จำเป็นต้องประกอบด้วยองค์คุณเท่าไร อะไรบ้าง ?
ตอบ จำเป็นจะต้องประกอบด้วยองค์คุณ ๓ ประการ คือ
ก. อาตาปี ต้องมีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ที่เป็นไปติดต่อตามหลักของปธาน ความเพียร ๔ อย่าง คือ เพียรละความเข้าใจผิดในนามรูปเก่าๆที่เกิดแล้ว
เพียรระวังไม่ให้เข้าใจผิดในนามรูปใหม่ๆ ที่มันไม่เกิดอย่าให้เกิดขึ้นได้
เพียรทำโยนิโสมนสิการ คือ ความเข้าใจถูกในนามรูปที่มันยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้นให้ได้
และเพียรพยายามทำโยนิโสมนสิการ คือ ความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของนามรูป ที่มันเกิดขึ้นแล้ว อย่าให้เสื่อมไป

เมื่อพูดกันอย่างฟังง่ายๆก็คือ ถ่ายเทความเข้าใจผิดในนามรูป ที่เรียกว่า วิปลาสธรรมเก่าๆออกไปเสีย เปลี่ยนรับเอาแต่เฉพาะความเข้าใจถูก ตามความเป็นจริงของนามรูป อันมีโยนิโสมนสิการและวิปัสสนา เป็นต้น เข้ามาแทนที่นั่นเอง

ข. สัมปชาโน คือ ต้องเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยสัมปชัญญะ ๔ คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ในการที่จะก้าวเท้าไปข้างหน้านั้น จะเป็นประโยชน์แก่สติปัญญาหรือไม่ ที่เรียกว่า สาตถกสัมปชัญญะหนี่ง  จะต้องเป็นผู้ที่รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ในการที่จะเดินไปนั้น จะเป็นที่สบายแก่สติปัญญาหรือไม่ ที่เรียกว่า สัปปายสัมปชัญญะหนึ่ง จะต้องเป็นผู้รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า อารมณ์ที่ตนจะประสบนั้น จะเป็นอารมณ์ที่เจริญไปด้วยสติปัญญา หรือไม่ ที่เรียกว่า โคจรสัมปชัญญะหนึ่ง
จะต้องเป็นผู้ที่รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ในการก้าวไปข้างหน้า หรือถอยกลับมาข้างหลัง เป็นต้นนั้น ตนเองจะรู้เท่าทันกับอารมณ์นั้นหรือไม่ ที่เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะหนึ่ง

ค. สติมา คือ จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบไปด้วยสติที่ตั้งอยู่บนมูลฐาน ๔ อย่าง มี กายานุปัสสนา เป็นต้น อย่างชนิดที่เป็นไปติดต่อโดยไม่ขาดสาย นั่นแหละจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ที่สมควรในการเจริญสติปัฎฐานได้ ฯ

 

ถาม การเจริญสติปัฎฐาน เฉพาะกายานุปัสสนานั้น ในข้อที่ว่า กาเย กายานุปัสสี วิหรติ ที่แปลว่า ผู้ปฎิบัติเป็นผู้คอยพิจารณาดูกายในกายเนืองๆอยู่นั้น ท่านหมายความว่าอย่างไร ?

ตอบ ท่านหมายความว่า คำว่า กาเย ที่แปลกันว่า ในกาย นั้น ขอให้ทราบว่า คำว่า กาเยนั้นเป็นรูปขันธ์ ซึ่งรวมกันอยู่ถึง ๑๔ บรรพ มีอานาปานบรรพ เป็นต้น
ส่วนคำว่า กายา นุปัสสี ที่แปลว่า เฝ้าพิจารณาดูกาย กายํ อนุปัสสี เท่ากับ กายานุปัสสี คือ เฝ้าพิจารณาดูซึ่งกาย อันเป็นบรรพ ๑ ใน ๑๔ บรรพนั้นเนืองๆ ก็หมายความว่า เรายกเอาอิริยาบถบรรพ เพียงข้อเดียวมาพิจารณาดูอยู่เนืองๆนั่นเอง

แม้ในอิริยาบถใหญ่ ๔ มีอิริยาบถยืน เป็นต้น เวลาเราจะพิจารณาดู เราก็จะต้องคอยเฝ้าดู เฉพาะแต่อิริยาบถที่กำลังปรากฎอยู่เท่านั้น ส่วนอิริยาบถที่เหลือ ที่ยังไม่ปรากกฏ เราก็ยังไม่พิจารณา เพราะเหตุว่า ความจริงยังไม่ทันจะปรากฏ เราจะไปเฝ้าพิจารณาดูอะไรเล่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรจะใส่ใจในเรื่องดังกล่าวนี้ให้มากๆสักหน่อย ฯ

ถาม ผู้ปฎิบัติมีความจำเป็นอย่างไรหรือ จึงจะต้องไปคอยเฝ้าดูอิริยาบถ ๔ ขอให้แสดงเหตุผลในการที่ต้องไปคอยเฝ้าดูอยุ่เนืองๆ ให้เข้าใจสักหน่อยเถิด ?

ตอบ เรื่องนี้ ขอให้ท่านลองพิจารณาดูด้วยเหตุผลสักหน่อย ก็จะพอรู้ได้ ความจริงคนเราทุกวันนี้ ต่างคนต่างก็หวังความสุขบายด้วยกันทังนั้น ใช่ไหม เราก็จะต้องรับว่า ใช่ แล้วก็เป็นความจริงเช่นนั้น
เมื่อลุกจากที่นอน ต่างคนต่างก็ตั้งหน้าไปทำงาน เพื่อแสวงหาความสุขให้ตนและครอบครัวด้วยกันทั้งนั้น เพราะมีความเข้าใจว่า ถ้าได้สมบัติที่ตนได้ตั้งใจไว้มา ก็จะเป็นความผาสุกดังที่คาดคิด อันนี้ไม่ว่าหญิงชาย เด็ก ผู้ใหญ่ สาวแก่ แม่หม้าย พระ เถร เณร ชี ก็ต้องการ ทุกคนก็ตั้งความหวังกันไว้คนละอย่างสองอย่าง
แต่ทุกคนหาได้ใช้ปัญญาพิจารณาไม่ว่า นั่นเป็นเพียงการแก้ทุกข์กันไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น

แท้จริงแล้ว ในแง่ของคำสอนพระ หาได้ถือเป็นความสุขไม่ ที่แท้ก็คือ ความทุกข์นั่นเอง
เพราะขึ้นชื่อว่า โลก แล้วไม่มีอะไรเป็นความสุขเลย พูดง่ายๆก็คือ เราจะไปแสวงหาความสุขในโลก เป็นอันว่าหาไม่พบก็แล้วกัน เพราะความสุขไม่ได้มีอยู่ในโลกไหนๆ
อันนี้เราจะเห็นว่าเป็นความทุกข์ก็ได้ ก็จะต้องคอยใช้ปัญญาเฝ้าพิจารณาดูความจริงของทุกข์ ที่มันกำลังปรากฏอยู่ ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ก็ไม่อาจรู้ถึงความเป็นจริงของมันได้

หากมีปัญหาสอดถามว่า แล้วก็ความทุกข์ที่ว่านั้น มันอยู่ที่ไหนกัน ก็ต้องตอบว่า ก็อยู่ที่ขันธ์ ๕ หรือ นามรูปนั่นแหละ เพราะนอกจากขันธ์ ๕ รูปนาม ก็ไม่มีอะไรเป็นทุกข์ ตัวทุกข์ก็คือขันธ์ รูปนามนั่นเอง
ดังนั้น การที่เราจำเป็นต้องใช้ปัญญาเฝ้าพิจารณาดูอิริยาบถก็คือ การคอยใช้ปัญญาคอยเฝ้าดูทุกข์นั่นเอง ฯ

ถาม เมื่อได้ทราบเหตุผลว่า การที่ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องคอยเฝ้าพิจารณาดูกาย คือ อิริยาบถอยู่เนืองๆนั้น ก็เพื่อต้องการเห็นความจริงของขันธ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอยากทราบต่อไปว่า เมื่อเราพยายามเฝ้าพิจารณาดูอิริยาบถอยู่อย่างนี้ แล้วจะมีประโยชน์อะไรเกิดขึ้นเล่า ?

ตอบ หากจะมีคำถามสอดเข้ามาว่า อะไรเป็นสภาพที่ปิดบังทุกข์เล่า ตามความจริง เราก็จะต้องตอบว่า อิริยาบถนั่นแหละเป็นผู้ปิดบังทุกข์ เราจึงไม่เห็นความจริงของทุกข์ คือ อิริยาบถ
คราวนี้ ความทุกข์ในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ ทุกข์ในอิริยาบถเก่า ทุกข์ในอิริยาบถใหม่
ทุกข์ในอิริยาบถเก่า เรียกว่า ทุกขเวทนา อันนี้ใครๆก็รู้ คือ เมื่อเดิน หรือยืนนานๆก็เป็นทุกข์ อย่างนี้ใครๆเขารู้กันทั้งนั้น
แต่ทว่า ทุกข์ในอิริยาบถใหม่ หามีใครรู้ไม่ เพราะทุกคนเมื่อถูกความทุกข๋ในอิริยาบถเก่าบีบคั้นเข้า ต่างก็ต้องผลัดเปลี่ยนไปหาอิริยาบถใหม่ด้วยกันทั้งนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเห็นผิด โดยคิดไปว่า ถ้าเราเปลี่ยนอิริยาบถเสียได้ก็จะสบาย นี่ทุกคนคิดกันอย่างนี้ทั้งนั้น
แต่หารู้ไม่ว่า แม้ถึงอิริยาบถใหม่ที่ตนคิดว่าสบายนั้น ก็เป็นตัวทุกข์เหมือนกัน แต่ทุกข์ชนิดนั้นเป็นของละเอียด เราจะรู้ไม่ได้ด้วยสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไป
ท่านได้เปรียบความทุกข์ในอิริยาบถเก่า กับทุกข์ในอิริยาบถใหม่ว่า เหมือนกับเถาหัวด้วน ธรรมดาของต้นเถาหัวด้วน มันจะเป็นต้นอ่อน หรือต้นแก่ก็ตาม มันก็คงเป็นต้นเถาที่มีหัวด้วนเหมือนกัน

ข้อนี้ฉันใด แม้ทุกข์มันจะอยู่ในอิริยาบถเก่าหรือใหม่ก็ตาม มันก็เป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้เหมือนกันนั่นแหละ แต่มันเป็นความเข้าใจผิดของพวกเราเอง จึงได้ไปตู่เอาอิริยาบถใหม่ว่าเป็นความสุข
นี่แหละท่านจึงได้กล่าวว่า อิริยาบถ ปิดบังทุกข์ เหตุนั้นการที่ท่านสอนให้คอยเฝ้าพิจารณาดูอิริยาบถ ก็เพื่อประโยชน์ที่จะให้เห็นทุกข์นั่นเอง ฯ

 

 

ถาม ก็ถ้าเห็นอิริยาบถเป็นทุกข์แล้ว จะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นเล่า ท่านจึงสอนให้ดูทุกข์ เพราะพิจารณาดูเผินๆแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นว่า จะมีประโยชน์อะไรในการเห็นทุกข์ ขอให้ชี้แจงและอ้างหลักมาดู ให้เห็นสมควรด้วยว่า เมื่อเห็นทุกข์แล้ว จะเกิดประโยชน์อย่างนั้น อย่างนี้ ?

ตอบ ประโยชน์อย่างอื่นๆ ที่เกิดจากการเห็นทุกข์ด้วยปัญญานั้น ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไร ที่นอกเหนือไปจาก ความบริสุทธิ์หมดจด ในเรื่องนี้ยังมีบาลีในธรรมบท ขุททกนิกาย รับรองข้อนี้ไว้เลยว่า " สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา " ซึ่งแปลความว่า เมื่อใดผู้ปฎิบัติมาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลาย ทั้งปวง เป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ ข้อนี้เป็นทางแห่งความหมดจด ก็เป็นความจริงเช่นนั้น เพราะพุทธบริษัททุกคนตั้งใจเข้าหาพระพุทธศาสนาด้วยศรัทธา โดยมุ่งหวังที่จะทำตนให้พ้นทุกข์ในวัฏฏะ ท่านก็ต้องการประโยชน์ คือ ความพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อความหมดจดจากกิเลสาสวะทั้งหลาย จะเกิดมีได้ ก็เพราะการพิจารณาเห็นว่า ขันธ์เป็นทุกข์ หากไม่เห็นว่าขันธ์เป็นทุกข์ด้วยภาวนามยปัญญาแล้ว ความหมดจดดังกล่าวจะเกิดมีขึ้นไม่ได้เลย ฯ

ถาม การพิจารณาดูทุกข์ที่ปรากฏตามอิริยาบทนั้น เราจะพิจารณาดูด้วยปัญญาชนิดไหน จึงจะสามารถรอบรู้ทุกข์ในอิริยาบถได้ ขอฟังอธิบายด้วย ?

ตอบ ความรู้มี ๓ ขั้น คือ
ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน จดจำมาจากครูบาอาจารย์ หรือตำหรับตำราก็ดี ความรุ้อย่างนี้ เราเรียกว่า ปริยัติญาณ "๑ ความรู้ที่เกิดจากการเจริญภาวนา คือ การเฝ้าพิจารณาดูความเป็นจริงของนามรูป ที่ปรากฏอยู่ตามอารมณ์และอิริยาบถ ความรู้อย่างนี้ เราเรียกว่า ปฏิบัติญาณ "๑ ความรู้แจ้งแทงตลอดถึงมรรค-ผล และพระนิพพาน เรียกว่า ปฏิเวธญาณ "๑

ในญาณปัญญาทั้ง ๓ ชนิดนี้ ปัญญาที่จะสามารถรู้ทุกข์ตามความเป็นจริง ที่ปรากฏอยู่ตามอารมณ์ และอิริยาบถได้ ก็จะต้องเป็นปฏิบัติญาณ คือความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ ส่วนปัญญาอีกสองอย่างในข้อ ๑ และข้อ ๓ นั้น เป็นอันรู้ไม่ได้ในอารมณ์อันเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นโลกียธรรมนี้ เพราะปริยัติญาณ รู้ได้เพียงเรื่องราวอันเป็นบัญญัติอารมณ์เท่านั้น ไม่สามารถที่จะเข้าไปรู้ถึงทุกข์ อันเป็นความจริงที่ปรากกอยู่ตามอารมณ์ และอิริยาบถได้ ส่วนปฏิเวธญาณนั้น ก็รู้ได้เฉพาะมรรค-ผล นิพพาน ซึ่งเป็นอารมณ์นอกโลก จึงมีความแตกต่างกันดังนี้ ฯ

ถาม ในอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ นี้ มีอิริยาบถไหนที่หยาบและง่ายต่อการกำหนด สำหรับผู้ปฏิบัติเล่า ?

ตอบ อิริยาบถที่หยาบและกำหนดได้ง่ายกว่าเขา ก็เห็นมีอยู่เฉพาะอิริยาบถเดินเท่านั้น ส่วนที่ยังเหลืออีก ๓ คือ นั่ง ยืน นอน แม้จะเป็นอารมณ์ที่หยาบก็จริง แต่ก็ยังเป็นอารมณ์ที่กำหนดได้ยากกว่าอิริยาบถเดิน

ดังนั้น เวลาปฏิบัติ นักปฏิบัติที่อยู่ในอิริยาบถนั่ง จึงมักจะไปเลี่ยงเอาอารมณ์อื่นมาปฎิบัติแทนเสียเป็นส่วนมาก เช่น ไปเอาอารมณ์ คือ พอง ยุบ มากำหนดแทนเสีย เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่า ขณะนั่งกำหนดได้ยาก เพราะนิ่งอยู่เฉยๆ เสมือนไม่มีอารมณ์จะให้กำหนด อย่างนี้เป็นต้น ฯ

 

ถาม อนึ่ง การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถนั้น เราเปลี่ยนกันทำไม หรือว่าเราเปลี่ยนเพราะอยากจะเปลี่ยน จึงได้เปลี่ยน ขอฟังเหตุผลด้วย ?

ตอบ การเปลี่ยนอิริยาบถแต่ละอย่าง ความจริงแล้ว เราเปลี่ยนเพื่อแก้ทุกข์ ไม่ใช่เพราะอยากจะเปลี่ยน เพราะอิริยาบถแต่ละอิริยาบถ เมื่อหมดอายุของมันแล้ว มันก็ทนอยู่ไม่ได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนอยู่เอง ถึงเราไม่อยากเปลี่ยน ก็จะต้องเปลี่ยน เราไม่มีอะไรที่จะไปบังคับบัญชามันได้ดอก ฯ

 

ถาม การเดิน-ยืน-นั่ง และนอน ทั้ง ๔ อิริยาบถนี้เป็นรูปเดียวกัน หรือคนละรูป เราจะรู้ได้ด้วยวิธีอย่างไร ?

ตอบ เมื่อจะพูดตามความเป็นจริงแล้ว อิริยาบถแต่ละอิริยาบถไม่ใช่เป็นรูปเดียวกันเลย แต่ที่เราเห็นว่าเป็นรูปเดียวกันนั้น ก็เพราะอาศัยสันตติ มันคอยสืบต่อไว้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราเห็นผิด โดยคิดว่ามันเป็นรูปเดียวกัน

เราจะรู้ได้ว่าอิริยาบถแต่ละอย่างมันไม่ใช่เป็นรูปเดียวกันได้ ก็ต่อเมื่อเราพยายามเฝ้าพิจารณาดูอิริยาบถไปด้วยความเพียร ที่เป็นไปติดต่อโดยไม่ขาดสาย ด้วยโยนิโสมนสิการที่แยบคาย จนเกิดภาวนามยปัญญารู้เท่าทันปัจจุบันอารมณ์แล้วเมื่อไร นั่นแหละเราจึงจะพอกำหนดรู้ได้ว่า มันเป็นคนละรูป ไม่ใช่รูปเดียวกันอย่างที่เราเข้าใจกัน ฯ

 

ถาม คำที่ว่าการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นการถ่ายเทความเข้าใจผิดออกจากรูปนามนั้น อยากทราบนักว่า บัดนี้เรากำลังมีความเข้าใจผิดอะไรในรูปนามอยู่เล่า ?

ตอบ อันที่จริงความเห็นผิดที่ว่า " เราเห็น เราได้ยิน เรารู้กลิ่น เราลิ้มรส เราถูกต้อง เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน " เป็นต้น เหล่านี้แหละ มันเป็นความเข้าใจผิดที่ลึกซึ้งเหลือเกิน จนคนธรรมดารู้ไม่ได้ว่ามันเป็นความเข้าใจผิด แต่ถ้าเราจะมาพิจารณากันด้วยเหตุผลสักหน่อยหนึ่งว่า การเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้อง เดิน-ยืน-นั่ง-นอน เหล่านี้น่ะ มันเป็นเราที่ตรงไหน เพียงแค่นี้ก็พอจะสังเกตเห็นได้แล้วว่า มันเป็นความเข้าใจที่เลื่อนลอย หาหลักอะไรไม่ได้เลย
ตามหลักธรรมะของพระท่านว่า เดินเป็นรูป แม้นั่ง-นอน ก็เป็นรูป แต่เราเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ทำไมจึงได้ไปตู่เอารูปต่างๆเหล่านั้นมาเป็นเราเสียเล่า เรามันเป็นลูกที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับพ่อนี่

ที่จริง สมเด็จพ่อก็สอนไว้ในที่หลายต่อหลายแห่ง เช่น ในอนัตตลักขณสูตร ก็มีว่า รูปไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ก็ถ้าว่ารูปนี้เป็นเรา และเป็นของๆเราแล้วไซร้ มันก็ไม่ควรที่จะเป็นไปเพื่อป่วยไข้ซิ ควรจะเป็นไปตามความประสงค์ของเรามิใช่หรือ แต่นี่เพราะรูปนามนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา มันจึงได้เปลี่ยนแปลงไปเป็น " อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา " บังคับบัญชาอะไรไม่ได้เลย เมื่อเราได้พยายามเฝ้าใช้โยนิโสมนสิการ คอยสังเกตดูอิริยาบถ ทุกๆอิริยาบถที่เปลี่ยนไปๆ โดยมีความรู้สึกตามไป ในขณะที่จะเปลี่ยนนั้น หนักๆเข้าก็จะรู้สึกขึ้นมาว่า ตนเองไม่มีอำนาจอะไรในอิริยาบถแต่ละอย่างเลย เมื่อถึงคราวที่มันจะเปลี่ยน ก็ฝืนมันไม่ได้ ต้องยอมเปลี่ยนให้มัน มิฉะนั้นก็จะเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้แน่นอน

พิจารณาดูก็เหมือนกับคนไข้ กับคนที่พยาบาลไข้ ไม่ต่างกันเลย คนไข้ก็มีแต่ความเจ็บ เสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส จะช่วยตัวเองก็ไม่ได้ จำต้องอาศัยคนที่พยาบาลคอยพยุงให้ลุก ให้นั่งอยู่ร่ำไป นับเป็นความลำบากทั้งคนที่เป็นไข้ ลำบากทั้งคนที่พยาบาลไข้ อย่างชนิดที่ไม่มีเวลาให้พักผ่อนบ้าง

ข้อนี้ฉันใด แม้นามรูปที่ปรากฏอยู่ตามอิริยาบถ ก็เหมือนกับคนที่เป็นไข้ คนที่เข้าไปยึดว่ารูปนามเป็นของเรา ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถแก้ทุกข์กันอยู่วันยังค่ำ คืนยังรุ่ง ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสภาพที่น่าเบื่อหน่ายอย่างเหลือประมาณ ถ้าเราพยายามปฏิบัติไปด้วยความสังเกตที่สุขุมโดยติดต่อแล้ว ก็จะรู้สึกว่า ไม่มีอะไรที่จะนอกเหนือไปจากทุกข์ ทุกข์อยู่ที่นามรูป รูปเก่าในอิริยาบถเก่า ก็ทนอยู่ไม่ได้ ครั้นเปลี่ยนไปสู่อิริยาบถใหม่ หนักเข้าก็ทนอยู่ไม่ได้อีก ต้องเปลี่ยนกันอีก ขั้นแรกๆ จะเห็นทุกข์ในอิริยาบถเก่าก่อน เพราะมันหยาบเห็นได้ง่ายกว่าทุกข์ในอิริยาบถใหม่
สังขารทุกข์ในอิริยาบถใหม่นั้น เป็นของละเอียด เห็นได้ยากกว่า แต่เมื่อปฏิบัติใช้ภาวนามยปัญญา สังเกตกำหนดไปๆ ก็จะเกิดความรู้สึกใหม่ๆขึ้นมาว่า แต่ก่อนเราคิดผิดว่า " การเดิน เป็นต้นนี้ เป็นเรา " จึงทึกทักเอาว่า เราเดิน-เรานั่ง-เรานอน เป็นต้น

 

 

ที่จริงแล้ว อิริยาบถเดิน-ยืน-นั่ง และนอน เป็นแต่สักว่า ธรรมะ ไม่ใช่ เรา
ความเข้าใจว่า เดิน-ยืน-นั่ง-นอน เป็นเรานั้น เป็นความเห็นผิดที่เรียกว่า " มิจฉาทิฎฐิ " ต่างหาก
นี่แหละเป็นการเจริญวิปัสสนา จึงเป็นการถ่ายเทความเห็นที่ผิดๆออกไป โดยรับเอาแต่ความเห็นที่ถูกต้องเข้าสู่จิตใจแทนที่ ความเห็นจึงเป็นวิสุทธิ คือ เป็นความเห็นที่หมดจด ที่เรียกว่า ทิฎฐิวิสุทธิ อันเป็นตัวปัญญาโดยตรงทีเดียว ตรงนี้แหละนับว่าเป็นความประสงค์ในทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะทีเดียว

อนื่ง ในที่ใดมีปัญญา ในที่นั้นก็จะต้องมี ศีล-สมาธิ จะขาดเสียไม่ได้ แต่ในที่ใดมีศีล-สมาธิ ปัญญาไม่ต้องมีก็ได้ เช่น ขณะทำสมถกรรมฐาน ศีลและสมาธิมี แต่ปัญญาไม่มีก็ได้ เพราะการเจริญสมถะไม่ได้มุ่งที่จะทำปัญญาให้เกิดขึ้น เพียงแต่อาศัยปัญญาคอยรักษานิมิตแห่งกรรมฐาน ขณะที่ยังไม่ได้เกิดฌานเท่านั้น แต่เมื่อเกิดฌานแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ปัญญาก็ได้ ในที่ใดมีศีล ในที่นั้นจะไม่มีสมาธิและปัญญาก็ได้ เช่น ในขณะที่พระ-เณรบวชอยู่ ที่จริงศีลของท่านมีอยู่ แต่ท่านมิได้ทำสมาธิและเจริญปัญญาเท่านั้น

แต่นั่นแหละ ผู้ที่หวังจะทำความเห็นให้เป็นวิสุทธิ หากไม่เจริญไตรสิกขา คือ ศีล-สมาธิ และปัญญา ให้เกิดพร้อมในอารมณ์เดียวกัน วิสุทธิเป็นอันว่าเกิดขึ้นไม่ได้แน่ๆ เพราะการทำงานของไตรสิกขา ไม่ได้เป็นเอกสมังคีในอารมณ์เดียวกันนั่นเอง ดังนั้น ประตูที่จะทำให้เข้าถึงตัวศาสนา ที่สำคัญก็อยู่ตรงที่ปฏิบัติวิปัสสนาเท่านั้น วิปัสสนามีสติปัฎฐานเป็นเหตุ ผู้ที่เจริญสติปัฎฐานประเภทกายานุปัสสนา โดยเฉพาะอิริยาบถบรรพ ดังที่กล่าวมา ก็เป็นวิถีทางหนึ่งที่จะนำให้ออกจากวัฏฏทุกข์ได้แน่นอน

จึงขอให้ท่านผู้สนใจในหลักธรรมปฎิบัติ พึงมนสิการตามแนว เท่าที่ได้ยกเอาบาลี-อรรถกถา-ฎีกา พร้อมด้วยหลักปฏิบัติมาแสดงไว้โดยย่อนี้ด้วย จะเป็นประโยชน์แก่ตัวของท่านเอง และจะเป็นอายุของพระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่งด้วย หากเราไม่ทำเสียแต่ชาตินี้ ในชาติต่อไปขออย่าได้หวังเลย เพราะชาติหน้าต้องทำเป็นนิสัยไปตั้งแต่ชาตินี้ หากไม่ทำไว้ จะไปเอานิสัยในชาติหน้ามาจากไหนกัน ฯ

ถาม การใช้สติสัมปชัญญะกำหนดอิริยาบถนั้น หากผู้ปฏิบัติไม่รู้เท่าทันถึงเหตุผลแล้ว อิริยาบถก็อาจเป็นปัจจัยให้เกิดอภิชฌาและโทมนัสได้ใช่ไหม ?

ตอบ ถูกแล้ว อิริยาบถเก่าเป็นอิริยาบถที่จะหมดอายุแล้ว จึงเกิดความปวดเมื่อยเป็นทุกขเวทนา ถ้าไม่มนสิการให้ดีแล้ว ก็อาจทำให้เกิดโทมนัส ไม่พอใจในอนิฏฐารมณ์ คือ ความปวดเมื่อยนั้นก็ได้ หรือในขณะที่เราจะเปลี่ยนไปเป็นอิริยาบถใหม่ จะเป็นอิริยาบถใดก็ตาม ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ใช้โยนิโสมนสิการให้ดีแล้ว ก็อาจอาศัยอิริยาบถใหม่ ซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ที่น่าปราถนานั้น ทำให้เกิดอภิชฌา คือ ความพอใจในอิริยาบถใหม่ ที่คิดว่าจะหายเมื่อยนั้นก็ได้ ดังนั้น การรู้เท่าทันในอิริยาบถทั้งเก่าและใหม่ ให้เห็นว่าเป็นเพียงการแก้ทุกข์ไปชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น

ความจริงแล้ว ไม่มีอิริยาบถใดดอกที่จะเป็นความสุข ที่จริงก็เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่ที่คิดว่าถ้าผลัดเปลี่ยนไปเสียได้จะสบายนั้น นั่นเป็นการเข้าใจวิปลาสคลาดเคลื่อนไปต่างหาก ก็ถ้าหากผู้ปฏิบัติได้พยายามใช้โยนิโสมนสิการ กำหนดให้รู้เท่าทันกับอิริยาบถ จนสามารถแยกความรู้สึกออกได้ว่า การเดิน-ยืน-นั่ง และนอนนี้ เป็นแต่เพียงว่ารูปธรรมเท่านั้น แล้วแต่ละอิริยาบถ ก็ไม่ใช่เป็นรูปเดียวกันอีกด้วย อย่างนี้ก็จะสามารถถอดถอนความเข้าใจผิดที่ว่า เราเดิน เรายืน เรานั่ง และเรานอน หมายความว่า เอาความเป็นเราออกไปเสียจากรูปได้

 

เช่นนี้ ความเข้าใจผิดต่างๆ อันเป็นตัวความเห็นผิด ที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ ก็จะหมดไป ทุกๆขณะที่ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้น ตรงนี้แหละที่ท่านเรียกว่า " ประตูที่จะนำให้เข้าถึงตัวของพระพุทธศาสนา " ที่แท้จริงละ เดิมเราได้ยินแต่ ครูในภายนอกสอนว่า นามรูปไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง และเป็นอนัตตา

แต่บัดนี้ เราได้พบครูตัวจริงในภายในสอนแล้ว หมายความว่า นามรูปที่เรากำหนดรู้เท่าทันนั่นแหละ มันจะแสดงความจริงให้เราได้รู้หมดทุกอย่าง จนกว่าจะหมดไปจากความสงสัยในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องมีผู้วิเศษคนใดมาสั่งสอนอีกแล้ว ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ แปลว่า " อันผู้รู้ทั้งหลาย จะพึงรู้ได้เฉพาะตน " นี่แหละจงจำไว้เถิด เป็นต้นทางที่จะให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงจุดที่ว่านี้

สงสาร การท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ของสัตว์ทั้งหลาย จะสิ้นสุดลงได้ก็ตรงจุดนี้แหละ
ชนทั้งหลายจะปิดประตูอบายได้ ก็ต้องตั้งต้นกันตรงนี้

จึงขอให้ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จงโปรดมนสิการใส่ใจไว้ แล้วก็หาเวลาปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงจุดนี้เถิด จะชื่อว่า

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรมเจ้า ว่าเป็นสรณะ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระสงฆ์เจ้า ว่าเป็นสรณะ ฯ

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น